คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9083/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ด เป็นเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในการตรวจค้นคราวเดียวกันกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 928/2541 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้ว แม้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ด ที่ซุกซ่อนอยู่ในถังน้ำซึ่งใช้ใส่ถ่านหุงข้าวในครัวของบ้านพักของจำเลยทั้งสองและพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ที่ตัวจำเลยที่ 1 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รับเอาเมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ดและจำนวน 2 เม็ดไว้คนละคราวกัน จึงต้องถือว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันซึ่งแยกเก็บไว้ในที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับการกระทำของจำเลยในคดีก่อนจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 5 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 19,500 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 13,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด และห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททุกประเภทตลอดระยะเวลารอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้นำหมายค้นไปตรวจบ้านพักของจำเลยทั้งสอง เมื่อไปถึงพบจำเลยทั้งสองอยู่ในบ้าน เจ้าพนักงานตำรวจได้แสดงหมายค้นต่อจำเลยทั้งสองแล้วทำการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด บรรจุอยู่ในหลอดเครื่องดื่มสีขาวลายแดงที่มือและที่กระเป๋ากางเกงด้านหลังซ้ายอีก 1 เม็ด เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นก็ได้ทำการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 2 แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายอะไร ครั้นเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นภายในบ้านก็ปรากฏว่าพบเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในซองพลาสติกใส่ยาแบบรูดปิดเปิดได้จำนวน 63 เม็ด ในซองบุหรี่กรองทิพย์จำนวน 25 เม็ด และบรรจุหลอดเครื่องดื่มปิดหัวท้ายอีกจำนวน 2 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ใต้ถังน้ำซึ่งใช้ใส่ถ่านหุงข้าววางอยู่ในห้องครัวด้านทิศตะวันตกของบ้าน ได้สอบถามจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่พบ จำเลยทั้งสองยอมรับสารภาพว่าเป็นของจำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองออกเป็น 2 สำนวน สำหรับสำนวนแรกที่ค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ที่ตัวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 928/2541 ของศาลชั้นต้น ส่วนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ด พนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่างหากเป็นคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ด เป็นเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในการตรวจค้นคราวเดียวกันกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 928/2541 ของศาลชั้นต้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ด ที่ซุกซ่อนอยู่ในถังน้ำซึ่งใช้ใส่ถ่านหุงข้าวในครัวของบ้านพักของจำเลยทั้งสองและพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ที่ตัวจำเลยที่ 2 แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 รับเอาเมทแอมเฟตามีนจำนวน 90 เม็ดและจำนวน 2 เม็ดไว้คนละคราวกัน จึงถือว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันซึ่งแยกเก็บไว้ในที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้กับการกระทำของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 928/2541 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 928/2541 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์ในคดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาคดีมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 2 แม้จะร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แต่เมทแอมเฟตามีนในคดีนี้มีจำนวนถึง 90 เม็ด แตกต่างจากคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 928/2541 ของศาลชั้นต้นมาก พฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้จึงเป็นเรื่องร้ายแรงสมควรลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 โดยกำหนดโทษใหม่และไม่รอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ส่วนในมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ ได้กำหนดไว้ว่า การมียาเสพติดที่มีสารเมทแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ไม่ได้มีบทบัญญัติใดกำหนดเป็นข้อสันนิษฐานไว้ว่าจะต้องมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ แม้จะมีตั้งแต่ 15 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไปตามกฎหมายเดิมก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิม มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าแม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกเท่ากันและตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมแต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แม้ระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจะเป็นคุณมากกว่าก็ตาม จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนโทษจำคุกให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share