แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์หรือเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อ เมื่อสัญญาเช่าซื้อไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ คดีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ และแม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริง แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็หามีผลถึงจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น คดีจึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-1319 (ป้ายแดง) กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 396,075.66 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 160,942 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 128,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ก-1319 (ป้ายแดง) กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ราคา 396,075.66 บาท แบ่งชำระ 48 งวด งวดละ 6,986 บาท งวดแรกชำระวันที่ 25 ธันวาคม 2539 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 25 ของเดือนจนกว่าจะครบ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 8 และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 จึงนำรถยนต์คืนโจทก์ โจทก์นำออกประมูลขายได้ราคา 142,940 บาท นับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียภาษีรถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 สามารถใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ สำหรับประเด็นนี้โจทก์นำสืบว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโจทก์เสียค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแล้ว ปรากฏตามสำเนาแบบขอเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงินเอกสารหมาย จ.6 เห็นว่า พยานเอกสารหมาย จ.6 ไม่ปรากฏว่ามีการเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์หรือเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ว่า ตราสารใดที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่อาจใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ คดีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 และแม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจริง แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็หามีผลถึงจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น คดีจึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์