แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผู้แทนดำเนินกิจการต่าง ๆ แทนจำเลย แม้พระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน แต่อธิบดีกรมทางหลวงก็ต้องปฏิบัติราชการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบในการที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ยังไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดให้ และได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ แต่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดินตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ซึ่งตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวได้แจ้งให้ทราบถึงสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายในกำหนด 60 วัน อันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่มีเหตุจำต้องแจ้งเป็นหนังสือซ้ำให้โจทก์ต้องไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินใหม่อีก แต่จำเลยกลับมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินในวันที่ 2 ธันวาคม 2539 อีก 1 ฉบับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยแสดงเจตนายกเลิกหนังสือแจ้งฉบับแรก และใช้หนังสือแจ้งฉบับหลังที่ชอบด้วยกฎหมายแทนฉบับแรก เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2539 วันสุดท้ายแห่งระยะเวลา 60 วัน คือวันที่ 31 มกราคม 2540 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 30 มกราคม 2540 จึงฟังได้ว่า โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน อันทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจำนวน 9,494,034 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,630,940 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,159,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1610, 1611, 2875 ถึง 2890, 2894 ถึง 2897, 904 และ 2905 ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รวม 23 แปลง ถูกเวนคืนอันเนื่องจากการดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 รวมเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน 1,288.20 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไร่ละ 320,000 บาท หรือตารางวาละ 800 บาท เป็นเงิน 1,030,560 บาท และเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ตกลงราคา แต่โจทก์ไม่ไปตกลงราคาค่าทดแทนที่ดินและทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลยในกำหนด เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในวันที่ 24 กันยายน 2539 และโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2539 โจทก์ได้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยแต่ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมขอเงินค่าทดแทนที่ดินในอัตราตารางวาละ 7,500 บาท จำเลยรับอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 แต่รัฐมนตรีฯ ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มีความเห็นเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นไร่ละ 640,000 บาท หรือตารางวาละ 1,600 บาท และรัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเห็นชอบด้วย โจทก์ไปรับเงินที่ได้เพิ่มขึ้นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 2,500 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ส่วนข้อที่คู่ความยังโต้เถียงกัน โจทก์นำสืบว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินจัดสรรมีการปรับปรุงพัฒนาโดยถมที่ดินสูง 1 เมตรเศษ และมีสาธารณูปโภคครบถ้วน โจทก์ขายที่ดินในโครงการของโจทก์แก่ลูกค้าตารางวาละ 7,500 บาท ถึงตารางวาละ 8,500 บาท จำเลยนำสืบว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยพิจารณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ต่อมารัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 1,600 บาท ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่ได้จัดทำสาธารณูปโภคและราคาซื้อขาย เป็นราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง การเวนคืนทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ เพราะจำเลยไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ เห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผู้แทนดำเนินกิจการต่าง ๆ แทนจำเลย แม้พระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน แต่อธิบดีกรมทางหลวงก็ต้องปฏิบัติราชการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยอยู่นั่นเอง และการดำเนินการเพื่อการเวนคืนที่ดินของโจทก์อยู่ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลยด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบในการที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ยังไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้ และได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่รัฐมนตรีฯ ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินต่อรัฐมนตรีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดินอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินดังกล่าว แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ จะรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา และต่อมามีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ เห็นว่า แม้โจทก์ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดินตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ซึ่งตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวได้แจ้งให้ทราบถึงสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ภายในกำหนด 60 วัน อันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่มีเหตุจำต้องแจ้งเป็นหนังสือซ้ำให้โจทก์ต้องไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินใหม่อีกก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามสำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่จำเลยอ้างส่งศาลเป็นพยานว่า โจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินในวันที่ 2 ธันวาคม 2539 อีก 1 ฉบับ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินครั้งแรก ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้แบบฟอร์มการแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินในกรณีที่โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนที่ดินแล้วทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ไม่ได้ไปตกลงราคาค่าทดแทนที่ดินและทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลย รูปคดีมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยคงเกรงว่าจะเป็นการแจ้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงได้มีหนังสือแจ้งไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงว่ารัฐมนตรีฯ รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 40 โดยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ แล้ว ซึ่งต้องตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยแสดงเจตนายกเลิกหนังสือแจ้งฉบับแรก และใช้หนังสือแจ้งฉบับหลังที่ชอบด้วยกฎหมายแทนฉบับแรก เมื่อนับระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2539 ตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองแล้ว วันสุดท้ายแห่งระยะเวลา 60 วัน คือวันที่ 31 มกราคม 2540 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ในวันที่ 30 มกราคม 2540 จึงฟังได้ว่า โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนอันทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 2,500 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมหรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปความได้ว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ คำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 ทั้งมาตราแล้วแต่ไม่อาจหาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน จึงใช้ราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและราคาประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ ประกอบทำเล สภาพที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน ซึ่งปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ไม่ได้มีสภาพ ทำเลที่ตั้งที่ดี ทั้งการเวนคืนทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น เงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงินจากการเสียภาษีอากรจากราษฎรซึ่งไม่เป็นธรรมแก่สังคมเพราะต้นทุนในการจัดทำบริการสาธารณะอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของสังคมต้องสูงขึ้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นจำนวนเท่าใด ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นที่ดินจัดสรรซึ่งโจทก์ขายได้ในราคาตารางวาละ 7,500 บาท การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในราคาตารางวาละ 2,500 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่า ราคาดังกล่าวหาใช่เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามความหมายของกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะราคาที่ดินจัดสรรของโจทก์ตามที่โจทก์อ้างเป็นราคาขายที่ได้รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การจัดทำสาธารณูปโภครวมทั้งกำไรที่โจทก์ต้องคำนวณรวมไว้ตามปกติของการทำธุรกิจทั่วไป ดังนั้น ราคาที่โจทก์อ้างย่อมสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ แต่อย่างไรก็ตามศาลมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหมาะสมโดยอาศัยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามมาตรา 21 วรรคแรก (1) ถึง (5) จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบได้ ในข้อนี้นางนพรัตน์กรรมการผู้จัดการโจทก์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อปี 2536 โจทก์ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่นาเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 500 บาท แล้วถมที่ดินให้สูงขึ้น โจทก์ถมที่ดินไปถึงบริเวณที่ว่างที่มีหญ้าขึ้น แต่ยังทำถนนคอนกรีตไปไม่ถึงบริเวณดังกล่าวเนื่องจากคาดว่าจะถูกแนวเขตเวนคืน ส่วนนายธนกฤตผู้จัดการโครงการหมู่บ้านนิรันด์วิลล่า พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นพยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ซื้อที่ดินซึ่งเป็นท้องนาในราคาตารางวาละ 500 บาท ภายหลังพัฒนาโครงการไปบางส่วน โจทก์จึงทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากเจือสมกับคำเบิกความของนายเสน่ห์หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และนายวินัยนายช่างแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 กรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ พยานจำเลยซึ่งไปตรวจสอบบริเวณที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โดยนายเสน่ห์และนายวินัยยืนยันว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีการถมที่ดินในระดับเดียวกับที่ดินของโจทก์ที่ขายให้แก่ลูกค้าแต่ยังไม่มีการทำถนนคอนกรีตและยังไม่มีสาธารณูปโภคใด ๆ ในบริเวณที่ดินที่ถูกเวนคืน พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้พัฒนาที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วยการถมที่ดินเดิมให้สูงขึ้นกว่าถนนสุรนารายณ์ที่อยู่ด้านหน้าโครงการประมาณ 1 เมตรเท่านั้น ค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1,288.20 ตารางวา สำหรับท้องที่ในชนบทเช่นนี้จึงไม่น่าจะสูงมากนัก ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจะอยู่ติดกับทางหลวงที่สร้างขึ้นใหม่ทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นนั้น เห็นว่า แม้ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเพียง 6 แปลงที่ยังมีที่เหลือจากการเวนคืนและไม่อาจใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางหลวงที่สร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นทางโค้ง ซึ่งกรมทางหลวงไม่อนุญาตให้โจทก์สร้างทางเชื่อมได้ก็ตาม แต่ผลจากการดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ปรากฏตามแผนผังว่าโครงการบ้านจัดสรรของโจทก์อยู่ใกล้กับทางหลวงที่สร้างขึ้นใหม่และใกล้ชุมทางที่แยกไปจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสระบุรีทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนตลอดจนที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่อยู่ในโครงการย่อมมีราคาสูงขึ้น นับว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ อยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่โจทก์ลงทุนถมที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนแล้ว เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ตารางวาละ 2,500 บาท นั้นสูงเกินไปไม่เป็นธรรมแก่สังคมที่ต้นทุนในการจัดทำบริการสาธารณะต้องสูงขึ้น จึงเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมเสียใหม่เป็นอัตราตารางวาละ 2,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยตารางวาละ 400 บาท ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ 1,288.20 ตารางวา โจทก์จึงมีสิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 515,280 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระต้นเงิน 515,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เว้นแต่เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.