คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ใช้ของแหลมมีคมขีดรถของนาย ส. ซึ่งจอดอยู่ในที่จอดรถพนักงานในบริษัทได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลย ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้างได้ ทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ชัดว่านอกจากจำเลยประสงค์จะมิให้มีการทำลายทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยแล้วยังต้องการให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลยได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับทรัพย์สินของจำเลยด้วย หากมีการกลั่นแกล้งทำลายทรัพย์สินกันในบริษัทจำเลย ลูกจ้างอื่นของจำเลยก็ย่อมทำงานอย่างไม่ปกติสุข โดยเฉพาะในที่จอดรถซึ่งเป็นสถานที่ที่ลูกจ้างของจำเลยต้องจอดรถของตนไว้ ไม่อาจดูแลได้ตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย จึงสมควรได้รับการดูแลจากจำเลยเป็นพิเศษดังจะเห็นได้ว่าจำเลยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เพื่อตรวจสอบหาพยานหลักฐานหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงทรัพย์สินที่ถูกกระทำเป็นรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาและลูกจ้างจำต้องใช้ในการเดินทางมาทำงานสถานที่ที่ถูกกระทำเป็นบริเวณที่จอดรถของบริษัทจำเลย และการใช้ของแหลมมีคมขีดรถของบุคคลอื่นเป็นการกระทำที่ไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของบุคคลอื่น ไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอยู่ในตัว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ยอมรับว่ากระทำความผิดจริงและใช้ค่าเสียหายให้แก่นาย ส. จนนาย ส. ไม่ติดใจเอาความกับโจทก์แล้ว และโจทก์มีคุณความดีมาก่อน ควรที่จะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษเพื่อให้โอกาสแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการปฏิบัติไปโดยถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจในการลงโทษของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างเดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานหากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 25,134 บาท ค่าจ้างค้างจำนวน 3,351.20 บาท ค่าชดเชยจำนวน 286,340 บาท ค่าล่วงเวลาจำนวน 942.52 บาท เงินสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 108,578.88 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทุกประเภทดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้างได้ไว้ใน (4) ว่า “กระทำหรือร่วมมือในการโจรกรรม หรือทำลายทรัพย์สินของบริษัทฯ หรือบุคคลอื่นในบริษัทฯ” ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ใช้ของแหลมมีคมขีดที่รถของนายสุรชัยซึ่งจอดอยู่ในที่จอดรถพนักงานในบริษัทได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลย ซึ่งจำเลยถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้างได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้วทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อบังคับข้อนี้แล้วเห็นได้ชัดว่านอกจากจำเลยประสงค์จะมิให้มีการทำลายทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยเองแล้วจำเลยยังต้องการให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นในบริษัทจำเลยได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับทรัพย์สินของจำเลยเองด้วย หากมีการกลั่นแกล้งทำลายทรัพย์สินกันในบริษัทจำเลย ลูกจ้างอื่นของจำเลยก็ย่อมทำงานอย่างไม่ปกติสุข โดยเฉพาะในที่จอดรถซึ่งเป็นสถานที่ที่ลูกจ้างของจำเลยจำต้องจอดรถของตนไว้ไม่อาจดูแลได้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จึงสมควรได้รับการดูแลจากจำเลยเป็นพิเศษดังจะเห็นได้ว่าจำเลยได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เพื่อตรวจสอบหาพยานหลักฐานหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงทรัพย์สินที่ถูกกระทำเป็นรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาและลูกจ้างจำต้องใช้ในการเดินทางมาทำงาน สถานที่ที่ถูกกระทำเป็นบริเวณที่จอดรถของบริษัทจำเลย กับพฤติการณ์ที่กระทำโดยการใช้ของแหลมมีคมขีดไปที่รถของบุคคลอื่นซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของบุคคลอื่นไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอยู่ในตัว จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2540 มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า โจทก์ยอมรับว่าได้กระทำความผิดจริงและยอมชดใช้ค่าเสียหายจะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษเพื่อให้โอกาสแก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีโทษถึงขั้นเลิกจ้างตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติไปโดยถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจในการลงโทษของจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share