คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิซึ่งจะทำให้คู่สัญญาต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญา อันถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ในฐานะสถาบันการเงิน แต่ปัญหาดังกล่าวโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 และสัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อความว่า สัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระหนี้ตามที่ผู้ให้กู้เรียกร้องทันที เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของลูกหนี้เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ตามลำดับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,303,684.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,303,684.10 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 กันยายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 เฉพาะค่าทนายความให้ใช้แทนจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงิน 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นพับทั้งสองศาล
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 สาขานครราชสีมา ขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขาดังกล่าว และจำเลยที่ 2 พ้นจากหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2538 โจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ขายลดตั๋วเงินกับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือค้ำประกัน โดยโจทก์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน โจทก์ขอสินเชื่อ เดินสะพัดทางบัญชีและชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตลอดมา ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2539 โจทก์ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันดังกล่าว โดยขอชำระหนี้เพียงบางส่วนอ้างว่าไม่เคยเบิกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ จำนวน 2,290,506.02 บาท และไม่ยอมชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ทำการไถ่ถอนจำนองให้ อ้างว่าโจทก์ต้องชำระหนี้ทุกสัญญาให้ครบถ้วนเสียก่อน ครั้นวันที่ 10 กันยายน 2539 โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนและจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองให้แล้ว โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้…
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า สัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 5 ของจำเลยที่ 1 น่าจะเป็นการใช้สิทธิซึ่งจะทำให้คู่สัญญาต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญา อันถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ในฐานะสถาบันการเงินหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ไม่เป็นข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 และปัญหาข้อความตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 5 ที่มีข้อความว่า สัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร โดยมิพักต้องชี้แจ้งแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระหนี้ตามที่ผู้ให้กู้เรียกร้องทันที ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยใจสมัครของลูกหนี้เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ตามลำดับ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้…
อนึ่ง ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ที่ฎีกานั้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาบางส่วนของโจทก์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่โจทก์บางส่วน โดยคงให้เหลือไว้ตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่ศาลฎีการับวินิจฉัย
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ 2,500 บาท ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share