แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นสูบถ่ายน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษจากรถยนต์บรรทุกน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ที่จำเลยที่ 1เป็นคนขับ อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะบรรทุกน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัดก. การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานสูบถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา3,4,8 ประกอบคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2522 ข้อ 15(1)อีกบทหนึ่งด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ทำการสูบถ่ายน้ำมันดังกล่าวชี้ชัดว่าเป็นความต้องการเดียวกันกับเอาน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ไป และโดยลักษณะของการกระทำ คือ การสูบถ่ายน้ำมันไปดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการเอาน้ำมันไปด้วยในตัวจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน หาได้มีเจตนาให้มีผลแยกต่างหากจากกันไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยไว้หนักไปศาลฎีกามีอำนาจกำหนดโทษให้เบาลงได้ และเป็นเหตุในลักษณะคดีให้มีผลตลอดถึงจำเลยอื่นซึ่งมิได้ฎีกาด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,83, 91 พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขไปและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 2, 3 คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 1/2522 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 30 มีนาคม 2522 ข้อ 3, 15(1)(3)พระราชบัญญัติ น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 ฯลฯ
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 5ถึงแก่ความตาย ศาลสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516มาตรา 3, 8 จำคุก 3 ปี ฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 จำคุก 3 ปี ฐานปลอมปนน้ำมันตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี จำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 83จำคุกคนละ 3 ปี และฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจำคุกคนละ 3 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 คนละ 6 ปี ฯลฯ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก และพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นฎีกาคดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1ฐานสูบถ่ายน้ำมันโดยไม่มีเหตุอันสมควรกับฐานลักทรัพย์ เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ พิเคราะห์แล้วการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานทรัพย์ในสำนวนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยอื่นสูบถ่ายน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษจำนวน 35 ลิตร ราคา 401.27 บาท จากรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 70-2704 กรุงเทพมหานคร ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกิจมงคลที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ แล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะบรรทุกน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัดกิจมงคลการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานสูบถ่ายน้ำมันโดยไม่มีเหตุอันสมควรอีกกระทงหนึ่งด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ในการพิจารณาว่าการกระทำความผิดในเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำผิดอันเป็นองค์ประกอบภายในจิตใจของผู้กระทำความผิดนั้นด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่กระทำการสูบถ่ายน้ำมันเบนซินดังกล่าวชี้ชัดว่า เป็นความต้องการเดียวกันกับเอาน้ำมันเบนซินของห้างหุ้นส่วนจำกัดกิจมงคลไป และโดยลักษณะของการกระทำคือการสูบถ่ายน้ำมันเบนซินไปดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการเอาน้ำมันเบนซินไปด้วยในตัวจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันหาได้มีเจตนาให้มีผลแยกต่างหากจากกันไม่ ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1ในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทซึ่งต้องใช้กฎหมายหลายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรียงกระทงลงโทษในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทความผิดโดยไม่ระบุวรรคใดนั้นไม่ถูกต้อง จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้องนอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่าทรัพย์ในการกระทำผิดมีจำนวน 35 ลิตร ซึ่งมีราคาเล็กน้อยเพียง401.27 บาทเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ไว้นั้นหนักไปสมควรกำหนดโทษให้เบาลง และเป็นเหตุในลักษณะคดีจึงให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานสูบถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8ประกอบคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2522 ข้อ 15(1) ซึ่งออกตามพระราชกำหนด ดังกล่าว และฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) วรรคสาม เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8 ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2522 ข้อ 15(1) ซึ่งออกตามพระราชกำหนดดังกล่าว อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานปลอมปนน้ำมันตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี วรรคแรก จำคุก 6 เดือนรวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 มีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) จำคุกคนละ 1 ปี เฉพาะจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปลอมปนน้ำมันตามพระราชบัญญัติ น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสองจำคุก 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว มาตรา 25 ตรี วรรคแรก จำคุกคนละ 6 เดือนรวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 มีกำหนดคนละ 1 ปี3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์