คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้นจะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องไม่ได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้สิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนทันทีเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อก็ดี โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 8 เดือน จึงยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็ดี จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ อันจักทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 651,469 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อเพียงแต่ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปชำระค่ารถยนต์ โดยโจทก์ทำในรูปของสัญญาเช่าซื้อและคิดดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไม่ถึง 350,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ได้เจตนาเข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงพ้นจากความรับผิด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 280,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 227,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อบีเอ็มดับบลิว หมายเลขทะเบียน 2 ธ-4906 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 759,744 บาท ตกลงจะชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน งวดละ 21,104 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2539 งวดต่อไปจะชำระไม่เกินวันที่ 20 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ. 4 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 6 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 2 งวด และผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 3 ประจำวันที่ 20 เมษายน 2539 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อให้ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย วันที่ 4 มีนาคม 2540 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและขายทอดตลาดไปแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติดกัน โจทก์ก็ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อทันทีเพื่อป้องกันความเสียหาย โจทก์กลับปล่อยเวลาถึง 8 เดือน จึงใช้สิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นการผ่อนเวลาส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 และเป็นการขยายระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น เจ้าหน้าที่จะใช้สิทธิเรียกร้องไม่ได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้สิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนทันทีเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อก็ดี โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 8 เดือน จึงยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็ดี จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นเป็นเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้อันจักทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เสนอเข้ารับผิดยอมชำระค่าเช่าซื้อต่อจากจำเลยที่ 1 แต่โจทก์นิ่งเฉย ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เห็นว่า ค่าเสียหายต่าง ๆ ยังสูงกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ค่าเสียหายจริง ๆ ไม่น่าจะเกิน 15,000 บาทนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 3 รายการ คือ ค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ 66,200 บาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อ 11,000 บาท จำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายรายการใดควรเป็นเงินเท่าใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.

Share