คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมดื่มสุราด้วยกันตั้งแต่ก่อนหนึ่งทุ่มครึ่งจนกระทั่งเวลาเลยเที่ยงคืนแล้ว จำเลยที่ 1 เล่าเรื่องที่ผู้ตายด่าว่าเกี่ยวกับการไม่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ฟัง ในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่ 2 ย่อมทราบอยู่แก่ใจดีว่าจำเลยที่ 1 มีความเคียดแค้นต่อผู้ตาย แทนที่จำเลยที่ 2 จะห้ามปรามหรือปลอบประโลมใจจำเลยที่ 1 เพื่อคลายความโกรธแต่กลับไปหยิบขวานขนาดใหญ่ที่พอจะทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตายได้มาส่งให้ และเมื่อจำเลยที่ 1 รับขวานมาแล้วได้ลุกเดินตรงไปยังที่ที่ผู้ตายนอนอยู่ จำเลยที่ 2 ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำร้ายผู้ตายแน่ แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังได้เดินตามจำเลยที่ 1 ไป หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ใช้ขวานฟันทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ยังยืนให้คำปรึกษาแก่จำเลยที่ 1 ถึงการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับศพผู้ตายต่อไป เมื่อตกลงกันได้ว่าจะต้องทำการซ่อนเร้นศพโดยการนำไปทิ้งบ่อน้ำที่ใกล้เคียง ขณะที่จำเลยที่ 1 แบกศพผู้ตายไปยังบ่อ ศพได้หล่นจากบ่า จำเลยที่ 2 ยังได้นำเสื้อกันฝนมาคลุมศพช่วยจำเลยที่ 1 ในการนำศพไปซ่อนในบ่อน้ำ พร้อมกับนำขวานที่ใช้เป็นอาวุธไปทิ้งลงบ่อด้วย ดังนี้ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 จะมิใช่ผู้ลงมือฟันทำร้ายผู้ตายโดยตรง แต่พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายด้วย ประกอบกับทุกขั้นตอนของการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะอยู่ร่วมด้วยในลักษณะที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ได้ทุกเมื่อหากมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการเกินเลยของการเป็นผู้สนับสนุนและถึงขั้นเป็นตัวการในการกระทำความผิดแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92, 199, 289 (4) ริบเสื้อกันฝนและขวานของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา และฐานซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตาย แต่ปฏิเสธความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 288 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต กระทงที่สองฐานซ่อนเร้น ย้ายศพเพื่อปิดบังการตาย จำคุกคนละ 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตในกระทงแรกแล้ว ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ในกระทงนี้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 คงเพิ่มโทษได้เฉพาะในกระทงที่สอง หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 สำหรับความผิดในกระทงแรกคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี กระทงที่สองมีกำหนด 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 สำหรับความผิดในกระทงแรกคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน กระทงที่สองมีกำหนด 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 12 เดือน ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้จำคุก 12 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุก 16 ปี และลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 16 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดโทษแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ในความผิดฐานดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นว่าให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมดื่มสุราด้วยกันตั้งแต่ก่อนหนึ่งทุ่มครึ่งจนกระทั่งเวลาเลยเที่ยงคืนแล้วจำเลยที่ 1 เล่าเรื่องที่ผู้ตายด่าว่าเกี่ยวกับการไม่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ฟัง ในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่ 2 ย่อมทราบอยู่แก่ใจดีว่าจำเลยที่ 1 มีความเคียดแค้นต่อผู้ตาย แทนที่จำเลยที่ 2 จะห้ามปรามหรือปลอมประโลมใจจำเลยที่ 1 เพื่อคลายความโกรธแต่กลับไปหยิบขวานขนาดใหญ่ที่พอจะทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตายได้มาส่งให้ และเมื่อจำเลยที่ 1 รับขวานมาแล้วได้ลุกเดินตรงไปยังที่ที่ผู้ตายนอนอยู่ จำเลยที่ 2 ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปทำร้ายผู้ตายแน่ แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังได้เดินตามจำเลยที่ 1 ไป หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ใช้ขวานฟันทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ยังยืนให้คำปรึกษาแก่จำเลยที่ 1 ถึงการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับศพผู้ตายต่อไป เมื่อตกลงกันได้ว่าจะต้องทำการซ่อนเร้นศพโดยการนำไปทิ้งบ่อน้ำที่ใกล้เคียง ขณะที่จำเลยที่ 1 แบกศพผู้ตายไปยังบ่อ ศพได้หล่นจากบ่า จำเลยที่ 2 ยังได้นำเสื้อกันฝนมาคลุมศพช่วยจำเลยที่ 1 ในการนำศพไปซ่อนในบ่อน้ำพร้อมกับนำขวานที่ใช้เป็นอาวุธไปทิ้งลงบ่อด้วย ดังนี้ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 จะมิใช่ผู้ลงมือฟันทำร้ายผู้ตายโดยตรง แต่พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายด้วย เมื่อเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะลงมือฆ่าผู้ตายจึงตรงกับเจตนาของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้สนับสนุน เพราะทุกขั้นตอนของการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะอยู่ร่วมด้วยในลักษณะที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ได้ทุกเมื่อหากมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการเกินเลยของการเป็นผู้สนับสนุนและถึงขั้นเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 18 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุก 24 ปี และลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 16 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share