คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4833/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 3 อาศัยอยู่ในบ้านที่ อ. ปลูกในที่ดินว่างเปล่าและยกให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านอยู่ในที่ว่างบริเวณใกล้เคียงกับบ้านที่จำเลยที่ 3 อาศัยอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ครอบครองลุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินนั้นก็ตกเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โดยการครอบครองปรปักษ์ คดีนี้จึงมีประเด็นในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ปลูกบ้านทั้งสองหลังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ หากฟังไม่ได้ว่าบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองไปโดยไม่ต้องพิจารณาคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟ้องแย้งว่า หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ครอบครองรุกล้ำหรือเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปกปักษ์ จึงเป็นฟ้องแย้งโดยมีเงื่อนไข ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 15624, 15625 และ 15626 ตำบลหันตะเภา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครครีอยุธยา รวม 3 แปลง ที่ดินทั้งสามแปลงมีเนื้อที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ประมาณกลางปี 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอเข้าปลูกบ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 4 ตำบลหันตะเภา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่อาศัยในที่ดินโฉนดเลขที่ 15625 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงกลาง ใช้เนื้อที่ปลูกสร้างบ้านประมาณ 16 ตารางวา โจทก์ทั้งสองยินยอม ต่อมาประมาณกลางปี 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอปลูกสร้างเพิ่มอีก 1 หลัง ใช้เนื้อที่ประมาณ 14 ตารางวา เพื่อให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรชายและบุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ทั้งสองยินยอม จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายปี ปีละ 300 บาท ประมาณปลายปี 2543 โจทก์เรียกเก็บเงินค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินจากจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมจ่ายค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง และไม่ยินยอมทำหลักฐานการเช่าที่ดินเป็นหนังสือให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารรื้อถอนบ้านทั้งสองหลังออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 13 และ 30 หมู่ที่ 4 ตำบลหันตะเภา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การและจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟ้องแย้งว่า ไม่เคยขออาศัยที่ดินจากโจทก์ทั้งสองและไม่เคยเสนอชำระค่าตอบแทนให้โจทก์ทั้งสอง เดิมบ้านเลขที่ 13 เป็นของนายแอ่น เจนพนัส ปลูกในที่ดินว่างเปล่า ต่อมาปี 2538 นายแอ่นยกที่ดินและบ้านหลังดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองด้วยความสงบและเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี แล้ว หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วหลังจากนายแอ่นปลูกบ้านหลังดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 เห็นว่าบริเวณดังกล่าวยังมีที่ว่างเปล่า ในปี 2515 จำเลยที่ 1 จึงปลูกบ้านเลขที่ 30 อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านเลขที่ 13 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองด้วยความสงบและเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันโดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยโต้แย้ง หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินดังกล่าวที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงรับเฉพาะคำให้การของจำเลยทั้งสี่เท่านั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาชั้นฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 13 และ 30 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 15624, 15625 และ 15626 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ขออาศัยปลูกบ้านอยู่ จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ไม่เคยขออาศัยที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว เดิมบ้านเลขที่ 13 เป็นของนายแอ่น เจนพนัส ปลูกในที่ดินว่างเปล่า ต่อมานายแอ่นยกบ้านดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี แล้ว หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 โดยการครอบครองปรปักษ์ สำหรับบ้านเลขที่ 30 จำเลยที่ 1 ให้การว่าหลังจากที่นายแอ่นปลูกบ้านเลขที่ 13 แล้ว ที่ดินบริเวณดังกล่าวยังมีที่ว่าง ปี 2515 จำเลยที่ 1 ปลูกบ้านทางทิศตะวันออกของบ้านเลขที่ 13 แล้วจำเลยที่ 1 ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินนั้นก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนี้คดีจึงมีประเด็นในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกบ้านทั้งสองหลังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ หากฟังไม่ได้ว่าบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองไปโดยไม่ต้องพิจารณาคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟ้องแย้งว่าหากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ครอบครองรุกล้ำหรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินโฉนดเลขที่ 15624, 15625 และ 15626 ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ นั้น จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา 174 วรรคสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share