คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่เด็กชาย ก. ต้องเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินและขับถ่ายได้ตามปกติ ถือได้ว่าเด็กชาย ก. ต้องสูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้าและทำลายความก้าวหน้าไปตลอดชีวิต โดยความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติก็คือ ความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานได้สิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต เมื่อผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย ก. ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิต โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นนี้ยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายอันเป็นที่มาของความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัสที่บังเกิดขึ้นกับเด็กชาย ก. ในขณะที่มีอายุเพียง 6 ปี เท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ด้วย ค่าเสียหายดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกันและไม่เป็นค่าเสียหายอย่างเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจากการทำละเมิดจำนวน 12,627,200.38 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,761,970.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 9,672,970.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง ค่าทนายความให้ใช้แทน 80,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,611,370.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าเด็กชายกีรติ์หรือเก้ง สุวัธนวนิช เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสอง ขณะเกิดเหตุอายุ 6 ปีเศษ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 11-9392 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถยนต์โดยสารประจำทางคันดังกล่าวเคลื่อนที่จากป้ายจอดรถยนต์โดยสารในขณะที่ผู้โดยสารยังลงจากรถไม่หมด ทำให้เด็กชายกีรติ์ซึ่งโดยสารมากับรถยนต์โดยสารประจำทางคันที่จำเลยที่ 1 ขับ และกำลังก้าวลงจากประตูรถเสียหลักตกลงมาบนพื้นถนน ล้อหลังด้านซ้ายของรถยนต์โดยสารประจำทางคันดังกล่าวจึงทับร่างเด็กชายกีรติ์ที่บริเวณสะโพกและขาซ้าย ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายถึงสาหัส ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 6 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 251/2542 ของศาลชั้นต้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนค่ารักษาพยาบาลตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.12 มีเพียง 5 ฉบับ เท่านั้น ที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์เป็นเงิน 607,990 บาท โจทก์ทั้งสองจึงเรียกร้องส่วนที่เกินไปกว่าจำนวนเงิน 607,990 บาท ไม่ได้นั้น เห็นว่าค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ถึง 446 บัญญัติให้ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นว่า ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคต รวมทั้งค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเหล่านี้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ทั้งสองและนายชัยยุทธ ต่างใจ แพทย์ผู้ทำการตรวจชันสูตรบาดแผลของเด็กชายกีรติ์เป็นพยานเบิกความถึงการรักษาพยาบาลเด็กชายกีรติ์ได้ความว่า หลังเกิดเหตุเด็กชายกีรติ์เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2541 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา โดยเด็กชายกีรติ์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะโพก กระเพาะปัสสาวะฉีกขาด ทวารหนักฉีกขาด เส้นประสาทที่ขาซ้ายได้รับอันตรายไม่อาจรักษาให้หายเป็นปกติและไม่สามารถเดินได้ ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์และใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.5 และ จ.19 ตามลำดับ โดยเด็กชายกีรติ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รวม 4 ครั้ง ซึ่งโจทก์ทั้งสองต้องเสียหายใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลเด็กชายกีรติ์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 778,970.50 บาท ตามใบสรุปหน้างบรายการค่ารักษาพยาบาลเอกสารหมาย จ.12 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์และใบรับรองแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.19 แล้ว จะเห็นได้ว่า เด็กชายกีรติ์ได้รับบาดเจ็บจากเหตุละเมิดดังกล่าว จำเป็นต้องผ่าตัดและเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โดยใบเสร็จรับเงินจำนวน 110 ฉบับ ตามใบสรุปหน้างบรายการค่ารักษาพยาบาลเอกสารหมาย จ.12 ออกโดยโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางส่วนเป็นใบเสร็จรับเงินค่าอุปกรณ์การแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและร้านค้าของเอกชน ซึ่งจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบหักล้างรายการตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวว่าสูงเกินเหตุและไม่ตรงต่อความเป็นจริงหรือโจทก์ทั้งสองยังมิได้ชำระเงินให้แก่ผู้ออกใบเสร็จรับเงินแต่อย่างใด จึงต้องฟังตามพยานเอกสารหมาย จ.12 ว่าเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เป็นจริงและเหมาะสมกับความร้ายแรงแห่งสภาพการบาดเจ็บของเด็กชายกีรติ์ เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ออกใบเสร็จดังกล่าวไปแล้วจำเลยทั้งสองก็ต้องร่วมกันรับผิดใช้คืนค่ารักษาพยาบาลจำนวน 778,970.50 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าอุปกรณ์ช่วยเดิน ค่าอุปกรณ์ผ่าตัดท่อปัสสาวะ และค่าทำกายภาพบำบัดที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสองสูงเกินควรและไม่ควรกำหนดเกิน 5 ปี นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีนายอภิสิทธิ์ ปัทมารัตน์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาเด็กชายกีรติ์ ระบุอาการของเด็กชายกีรติ์ในใบความเห็นแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.18 ว่า เด็กชายกีรติ์ได้รับบาดเจ็บที่ขาข้างซ้าย ทำให้ไม่สามารถงอหรือเหยียดเข่าได้ เป็นผลให้การยืนหรือการเดินผิดปกติ จำเป็นต้องรักษาโดยการใช้เครื่องมือช่วยพยุงข้อเข่าแบบปรับมุมองศาได้เพื่อช่วยในการยืนและเดิน ทั้งนี้โจทก์ทั้งสองยังมีนายชัยยุทธแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเด็กชายกีรติ์เบิกความยืนยันว่า จากการที่เส้นประสาทขาซ้ายของเด็กชายกีรติ์ได้รับอันตรายมีผลทำให้เด็กชายกีรติ์ต้องพิการเดินไม่ได้ตลอดชีวิต ซึ่งทางการแพทย์ช่วยได้แต่เพียงการทำกายภาพบำบัด ด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อมิให้กล้ามเนื้อขาลีบ นอกจากนี้เด็กชายกีรติ์ไม่สามารถที่จะขับถ่ายได้เอง โดยจะต้องใช้สายยางช่วยในการขับถ่าย การที่โจทก์ทั้งสองมีแพทย์ผู้ทำการชันสูตรบาดแผลและทำความเห็นตามหลักวิชาการเช่นนี้ จึงเชื่อได้ว่าเด็กชายกีรติ์ต้องทุพพลภาพเดินและขับถ่ายเองไม่ได้ตามปกติไปตลอดชีวิต ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบโต้แย้งความเห็นของแพทย์เป็นอย่างอื่น กรณีฟังได้ว่า เมื่อเด็กชายกีรติ์ออกจากโรงพยาบาลแล้ว เด็กชายกีรติ์ยังต้องได้รับการรักษาโดยทางกายภาพบำบัดและต้องมาเปลี่ยนสายยางท่อปัสสาวะที่โรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ ตามที่แพทย์กำหนด ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตลอดชีวิตของเด็กชายกีรติ์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสองได้รับชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจนกระทั่งเด็กชายกีรติ์จะบรรลุนิติภาวะรวมเวลา 13 ปี ตามที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้อง จึงนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 แล้ว อีกทั้งที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าอุปกรณ์ช่วยเดินเป็นจำนวนเงิน 39,000 บาท ค่าอุปกรณ์ผ่าตัดท่อปัสสาวะเป็นจำนวนเงิน 156,000 บาท และมาตรฐานกลางของค่าอุปกรณ์การแพทย์และค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ทั้งสามชำระให้แก่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.12 แล้ว นับได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปมีว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าจ้างพยาบาลเฝ้าไข้และค่าพาหนะที่โจทก์ทั้งสองพาเด็กชายกีรติ์มารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงและไม่มีรายละเอียดว่าได้จ่ายค่าจ้างและค่าพาหนะไปเท่าใดก็ตาม แต่การที่เด็กชายกีรติ์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะโพกหัก กระเพาะปัสสาวะและทวารหนักฉีกขาด ตลอดจนเส้นประสาทที่ขาซ้ายได้รับอันตรายจนไม่สามารถเดินได้ โดยแพทย์ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดหลายครั้งและผู้ป่วยยังต้องทำกายภาพบำบัดทั้งขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและออกจากโรงพยาบาลแล้ว อันมีความจำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กชายกีรติ์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เชื่อได้ว่า โจทก์ทั้งสองต้องจ้างพยาบาลพิเศษคอยช่วยเหลือดูแลเด็กชายกีรติ์ขณะพักรักษาตัว และต้องว่าจ้างพาหนะรับส่งเด็กชายกีรติ์ไปและกลับจากโรงพยาบาลเมื่อแพทย์นัดทำการผ่าตัดเปลี่ยนท่อสายยางปัสสาวะและทำกายภาพบำบัดที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าจ้างพยาบาลขณะที่เด็กชายกีรติ์พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 89 วัน โดยคิดคำนวณเทียบเคียงใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.12 ในอัตราวันละ 350 บาท ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งเป็นจำนวนเงิน 31,150 บาท และกำหนดค่าพาหนะในการพาเด็กชายกีรติ์มารักษาตัวและทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลในอัตราเดียวกับค่าจ้างพยาบาลเป็นเวลา 235 วัน รวมเป็นจำนวนเงิน 82,250 บาท จึงพอสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า การที่เด็กชายกีรติ์ต้องเป็นคนพิการ ไม่สามารถเดินและขับถ่ายได้ตามปกติ ถือได้ว่าเด็กชายกีรติ์ต้องสูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้าและทำลายความก้าวหน้าของเด็กชายกีรติ์ตลอดชีวิต โดยความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติก็คือความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตนั่นเอง เมื่อผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชายกีรติ์ต้องทุพพลภาพไปตลอดชีวิต โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นนี้ยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายอันเป็นที่มาของความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัสที่บังเกิดขึ้นกับเด็กชายกีรติ์ในขณะที่มีอายุได้เพียง 6 ปีเท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ด้วย ค่าเสียหายดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกันและไม่เป็นค่าเสียหายอย่างเดียวกัน ซึ่งค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ชดใช้ทั้งสิ้น 6,900,000 บาท จึงนับเป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายมีว่าค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองควรเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า อัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้ศาลพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น ตามอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงแห่งทุนทรัพย์ดังที่ระบุไว้ ด้วยทุนทรัพย์แห่งคดีนี้เป็นจำนวนเงิน 12,627,200.38 บาท ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ทุกประเด็น ทั้งระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำฟ้องคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีคือวันที่ 27 ธันวาคม 2543 รวมเวลา 1 ปีเศษ นับได้ว่าทนายความโจทก์ทั้งสองต้องปฏิบัติงานนานและใช้เวลามิใช่น้อย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share