คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ไปล็อกกุญแจปิดร้านอาหารเพื่อมิให้โจทก์เช่าต่อไป โดยจำเลยที่ 1 คิดว่าตนเองมีอำนาจกระทำการได้ตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าถ้าผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ให้เช่าย่อมทรงสิทธิในการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญานี้โดยพลัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการขาดเจตนาที่จะกระทำผิดฐานบุกรุก ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสวนอาหารและห้องอาหารชื่อร้านไม้ไทย เลขที่ 663/16 ซอยรามคำแหง 127 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร อันเป็นเคหสถานที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ โดยจำเลยที่ 1 จ้างวานให้จำเลยที่ 2 นำกุญแจไปปิดล็อกประตูทางเข้าออกห้องอาหารและสถานที่เก็บอาหารโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จำเลยที่ 2 ได้ข่มขืนใจให้นายจีระศักดิ์ กระฉอดนอก ผู้ดูแลสถานที่ของโจทก์สละการครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และให้ออกจากสถานที่ดังกล่าว มิฉะนั้นจะปิดขังไว้ในเคหสถานดังกล่าว นายจีระศักดิ์จึงจำยอมมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ และจำเลยทั้งสองได้ลักเอาทรัพย์สินดังกล่าวไป โดยเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการทำการค้าไม่น้อยกว่าวันละ 10,000 บาท และต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นมูลค่า 821,020 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365, 337, 334 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365 ประกอบด้วยมาตรา 83 ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ไปปิดกุญแจร้านอาหารที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ 1 ในราคาเดือนละ 45,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน เริ่มทำสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป มีกำหนด 3 ปี โจทก์ได้ชำระค่าเช่าเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2541 ภายหลังวันที่ 5 ของเดือนดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับเงินค่าเช่าไว้พร้อมกับได้ต่อว่าโจทก์ที่ชำระค่าเช่าไม่ตรงตามสัญญา ส่วนในเดือนมกราคม 2542 โจทก์ก็ไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยที่ 1 จนกระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2542 จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ไปปิดกุญแจร้านที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ 1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองกับนายจีระศักดิ์ กระฉอดนอก เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ได้เช่าร้านของจำเลยที่ 1 ทำเป็นร้านอาหารเป็นเวลา 3 ปี เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 คิดค่าเช่าเดือนละ 45,000 บาท โดยชำระค่าเช่าภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ยอมรับว่า ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2541 โจทก์ชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังวันที่ 5 ของทุกเดือนและในเดือนมกราคม 2542 โจทก์ยังไม่ชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะยอมรับค่าเช่าจากโจทก์ในเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2541 ไว้ก็ตามแต่ได้มีการต่อว่าโจทก์เกี่ยวกับเรื่องการชำระราคาค่าเช่าที่ไม่ตรงตามสัญญา ดังนั้นจะถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับเป็นปริยายว่าไม่ถือกำหนดเวลาเรื่องการชำระค่าเช่าให้ตรงเวลาเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เมื่อถึงเดือนมกราคม 2542 โจทก์ก็ยังไม่ชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยภายในวันที่ 5 มกราคม 2542 อีก วันที่ 22 มกราคม 2542 จำเลยที่ 1 จึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าและให้จำเลยที่ 2 ไปล็อกกุญแจปิดร้านอาหารเพื่อมิให้โจทก์เช่าต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 1 คิดว่าตนเองมีอำนาจกระทำได้ตามสัญญาเช่าข้อ 11 ที่ระบุว่าถ้าผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ให้เช่าย่อมทรงสิทธิในการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญานี้โดยพลัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการขาดเจตนาที่จะกระทำผิดฐานบุกรุก ที่โจทก์อ้างว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share