คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8018/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับโดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ ป.พ.พ. มาตรา 1657 กำหนด แม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเองทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบนินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องเช่นนี้ ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2534 นายบุญมี แห่งหน ผู้ตาย ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2542 ผู้ตายถึงแก่ความตายที่บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคาร ที่ดินโฉนดเลขที่ 6114 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมของนายบุญมี แห่งหน ผู้ตาย ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ และผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าว ผู้ตายเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 1 และพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นางระรินทิพย์ แฉล้มเขตต์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญมี แห่งหน ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2542 และมีทรัพย์ที่ระบุเป็นมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 6114 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ต่างบรรลุนิติภาวะและไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนล้มละลาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า เอกสารหมาย ร.1 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ในประการนี้ผู้ร้องมีตัวผู้ร้อง และนายสาธิต ปิ่นพิภพ คนขับรถให้ผู้ร้องมาเบิกความว่า ในวันทำพินัยกรรมนายสาธิตขับรถพาผู้ร้องจากกรุงเทพมหานครไปหาผู้ตายที่โรงเรียนสุวรรณรังสฤษฎ์วิทยาลัย ที่จังหวัดเพชรบุรี ในวันดังกล่าวผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับต่อหน้านายสาธิตและนายชัย ปักษา ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองมีตัวผู้คัดค้านที่ 1 มานำสืบต่อสู้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 พักอาศัยอยู่กับผู้ตายที่จังหวัดเพชรบุรีและมีบุตรด้วยกันสองคน ในวันที่ปรากฏเป็นวันทำพินัยกรรม ผู้ร้องและสามีผู้ร้องได้ขับรถปิกอัพมารับผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 1 ไปที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมและจำนองในธุรกิจที่คู่ความมีความเกี่ยวข้องกัน และหลังจากที่ธนาคารจ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องและสามีได้ขับรถไปส่งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 1 ยังบ้านพักโดยผู้ตายไม่ได้กลับไปทำงานที่โรงเรียนกับปฏิเสธว่าลายมือชื่อในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตายโดยมีนายชัย ปักษา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผู้ตายและเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 มายืนยันว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าพยาน หากเป็นเรื่องที่ผู้ตายนำกระดาษเอกสารหมาย ร.1 ที่ยังไม่มีข้อความมาให้พยานลงชื่ออ้างว่าไม่มีอะไร และมีนาวาเอกนพพร แห่งหน (เข้าใจว่าเป็นนายทหารเรือ) มาเบิกความสนับสนุนโดยตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่น่าใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย เห็นว่า ผู้ร้องมีเอกสารหมาย ร.8 ที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับในคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องว่า เป็นลายมือของผู้ตายมาเปรียบเทียบกับลายมือที่ปรากฏในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวอักษรและลายมือชื่อที่มีการเขียนคล้ายคลึงกัน ทำให้น่าเชื่อว่าเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันคือผู้ตายเป็นคนเขียน เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นายชัย ปักษา ที่มีชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 แต่มาเป็นพยานฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองเบิกความตอบทนายผู้คันค้านทั้งสอง โดยรับว่าลายมือชื่อที่ปรากฏในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 เป็นลายมือของพยานจริง ซึ่งแม้จะปฏิเสธว่าขณะผู้ตายนำมาให้ลงชื่อยังมิได้มีข้อความใดๆ แต่ก็เป็นการเจือสมพยานหลักฐานของผู้ร้องว่าผู้ตายเป็นทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 จริง แม้ว่าผู้ร้องจะเป็นบุคคลภายนอกที่ผู้ตายซึ่งมีบุตรภริยาไม่น่าจะยกทรัพย์สินของตนให้ตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาทางนำสืบของคู่ความแล้วดูจะพัวพันกันในทางธุรกิจอยู่บ้างเหมือนกัน น้ำหนักพยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีมากกว่า และทำให้ข้ออ้างของฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองที่ว่าพินัยกรรมได้จัดทำ ณ ที่โรงเรียนในวันตามที่ปรากฏในพินัยกรรมจริงหรือไม่ ไม่เป็นสาระที่ต้องนำมาวินิจฉัย กรณีจึงคงเหลือปัญหาข้อกฎหมายในประการสุดท้ายว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ใช้บังคับได้หรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา พอสรุปใจความว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 เป็นรูปแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 เพราะมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน ซึ่งตกเป็นโมฆะ เพราะพยานรายหนึ่งลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าและไม่อาจแปลว่าเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ เห็นว่า การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อได้ความว่าผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับ โดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 กำหนด ซึ่งแม้จะมีการให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 ย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องไปพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบพินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ ดังนั้น เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง เช่นนี้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้าย ดังนี้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share