คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8005/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ยาเสพติดให้โทษของกลางจำนวนแรกเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) ผสมกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) จำเลยจึงมีเจตนาครอบครองยาเสพติดใด้โทษรวมกันไปไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ส่วนของกลางจำนวนที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนแบบเกล็ด) และ (3, 4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน) ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยกัน เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียว
การที่จำเลยมียาเสพติดให้โทษจำนวนแรกและจำนวนที่ 2 และที่ 3 ไว้ในครอบครองเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายคนละบท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต้องเรียงกระทงลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ กรรมเดียวไม่ถูกต้อง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 อีกกระทงหนึ่งได้เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและคีตามีน ผสมรวมกันจำนวน 90 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยมี 3, 4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนแบบเกล็ดจำนวน 4 ซองไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 13 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 102 จำคุก 20 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 67 (ที่แก้ไขใหม่) และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง 106 ทวิ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน และมี 3, 4-เมเทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนกับมีเมทแอมเฟตามีนที่ผสมรวมกับคีตามีนโดยมิได้รับอนุญาตในวาระเดียวกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกัน แต่ก็เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยกัน และเมทแอมเฟตามีนที่ผสมรวมกับคีตามีนก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมทแอมเฟตามีนที่มีคีตามีนผสมอยู่จึงเป็นวัตถุเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานมีคีตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองของกลางตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกวราเบิกความถึงเหตุการณ์ก่อนจับกุมจำเลยว่า มีสายลับโทษศัพท์แจ้งว่ามีสามีภริยาคู่หนึ่งนำยาเสพติดให้โทษประเภทยาอีซุกซ่อนในห้องพักเลขที่ 810 โรงแรมหาดใหญ่พาเลซเป็นจำนวนมากและจะนำออกจำหน่ายและขายแก่นักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว ร้อยตำรวจเอกวราติดตามดูพฤติการณ์จนทราบว่าจำเลยเป็นหนึ่งในสองบุคคลดังกล่าว โจทก์ยังนำดาบตำรวจประพัฒน์เข้าเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวราด้วยว่า ในวันเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกวราแจ้งว่ามีสายลับแจ้งว่ามีหญิงชายคู่หนึ่งอยู่ที่ห้องเลขที่ 810 โรงแรมหาดใหญ่พาเลซลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทยาอีและยาไอซ์ให้แก่นักท่องเที่ยว พยานโจกท์ทั้งสองเบิกความถึงพฤติการณ์ขณะตรวจค้นและจับกุมจำเลยว่า วันเกิดเหตุก่อนจับกุมจำเลยเมื่อไปที่ห้องพักที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 20.50 นาฬิกา ได้ซุ่มอยู่บริเวณหน้าห้องจนเวลาประมาณ 21 นาฬิกา นางสาวหทัยกาญจน์ ปัญญายิ่ง เปิดประตูห้องพักที่เกิดเหตุออกมา ร้อยตำรวจเอกวรากับดาบตำรวจประพัฒน์จึงควบคุมตัวนางสาวหทัยกาญจน์ไว้ และเมื่อเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุ พบจำเลยอยู่ในลักษณะลุกลี้ลุกลนจึงได้เข้าควบคุมตัวจำเลยไว้ เมื่อตรวจค้นบริเวณที่จำเลยยืนอยู่พบถุงพลาสติกวางอยู่ที่พื้นใต้โต๊ะรับแขก พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตรงกันว่า จำเลยปฏิเสธว่าของกลางไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของที่เพื่อนจำเลยซึ่งเป็นชาวมาเลเซียฝากจำเลยไว้ ส่วนพันตำรวจโทมาทิตย์ ยิ้มซ้าย พนักงานสอบสวนคดีนี้เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธอ้างว่าของกลางเป็นของนายอาเสียง ชาวมาเลเซีย นำมาฝากไว้ จำเลยนำสืบว่า ในคืนเกิดเหตุก่อนถูกจับกุม นายอาเสียงซึ่งพักอยู่โรงแรมเดียวกับจำเลยที่ห้องเลขที่ 812 ได้เข้ามาหาจำเลยในห้องพักที่เกิดเหตุ และนั่งพูดคุยกับจำเลยโดยในขณะที่นายอาเสียงเดินเข้ามาในห้องนั้นได้ถือถุงพลาสติกที่ภายในบรรจุของกลางมาด้วยและวางบนพื้นขณะนั่งคุยกับจำเลยที่ชุดโซฟารับแขก เมื่อคุยกับจำเลยเสร็จได้เดินออกจากห้องและบอกฝากถุงพลาสติกดังกล่าวไว้ โดยจำเลยมิได้ยุ่งเกี่ยวกับของกลาง เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยนั้นนายอาเสียงก็พักอยู่ที่ห้องเลขที่ 812 ไม่ปรากฏเหตุจำเป็นใดที่นายอาเสียงจะต้องฝากของกลางไว้กับจำเลย จำเลยมิได้นำนางสาวหทัยกาญจน์มานำสืบสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของจำเลยดังกล่าวทำให้ไม่มีนำหนักรับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้เพื่อจำหน่ายและเพื่อขายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบมาว่า จำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่นักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนล่อซื้อเพื่อจับกุมจำเลยในขณะที่จำเลยจำหน่ายหรือขายยาเสพติดให้โทษ เพียงแต่ไปตรวจค้นห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหายาเสพติดให้โทษเท่านั้น การนำสืบถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายหรือขายยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จำนวนของกลางก็มีไม่มาก โดยของกลางประเภทเมทแอมเฟตามีนผสมกับคีตามีนจำนวน 90 เม็ด คำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนและคีตามีนหนัก 1.500 กรัม และ 4.341 กรัม ตามลำดับ ส่วน 3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนก็มีจำนวน 50 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6.261 กรัม และเมทแอมเฟตามีนแบบเกล็ดจำนวน 4 ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 11.143 กรัม เพียงเท่านี้ยังไม่พอรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้นำปัสสาวะของจำเลยไปตรวจปรากฏผลว่ามีสารเสพติดในปัสสาวะ แสดงว่าจำเลยเคยเสพยาเสพติดให้โทษมาก่อนถูกจับกุม จึงสนับสนุนข้อเท็จจริงว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้นชอบแล้ว และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้แก่จำเลยหนึ่งในสี่ เพราะคำให้การชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนั้นก็ชอบแล้วเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้มีอยู่ 3 จำนวน จำนวนแรกเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) ที่ผสมกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) จำนวนที่ 2 และที่ 3 เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนแบบเกล็ด) และ (3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน) การที่ยาเสพติดให้โทษของกลางจำนวนแรกเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) ผสมกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) จำเลยจึงมีเจตนาครอบครองยาเสพติดให้โทษจำนวนดังกล่าวรวมกันไป ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนักฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อเป็นดังนี้ จึงต้องถือว่ายาเสพติดให้โทษจำนวนดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 แต่ยาเสพติดให้โทษจำนวนดังกล่าวเป็นยาเสพติดให้โทษคนละอย่างกับของกลางจำนวนที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนแบบเกล็ด) และ (3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน) ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ด้วยกัน เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เมื่อเป็นดังนี้ การที่จำเลยมียาเสพติดให้โทษจำนวนแรกและจำนวนที่ 2 และที่ 3 ไว้ในครอบครอง อันเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายคนละบท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม ต้องเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเป็นกรรมเดียว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวแม่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งไว้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 อีกกระทงหนึ่งได้เนื่องจากเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายืน

Share