คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7556/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

รถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อและรถยนต์ที่เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยเป็นรถยนต์คันเดียวกัน และสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทั้งสองเกิดจากการสูญหายของรถยนต์คันเดียวกัน เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยร่วมสูญหาย จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดี เพื่อให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) โดยโจทก์ไม่จำต้องฟ้องจำเลยร่วมเป็นจำเลยในคดีนี้และไม่จำต้องเป็นคู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยร่วมแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 140,000 บาท และค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยร่วมไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์เช่าซื้อไว้แก่จำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมจะต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนจำนวน 50,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเอาประกันภัยสูญหาย จำเลยร่วมมิได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยทั้งสามขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามารับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องจำเลยร่วมและมิได้เป็นคู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยร่วม โดยโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ส่วนจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกันภัย แต่จำเลยร่วมถูกศาลชั้นต้นหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน หากศาลพิจารณาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี ซึ่งรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อและรถยนต์ที่เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยเป็นรถยนต์คันเดียวกันและสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทั้งสองเกิดจากการสูญหายของรถยนต์คันเดียวกัน เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยร่วมสูญหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ ขณะเดียวกันก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยร่วมตามสัญญาประกันภัย จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดี เพื่อให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมายโดยโจทก์ไม่จำต้องฟ้องจำเลยร่วมเป็นจำเลยในคดีนี้ และไม่จำต้องเป็นคู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยร่วมแต่อย่างใด เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยสูญหาย จำเลยร่วมต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3.1 ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3.5.3 ที่ระบุเงื่อนไขว่าจำเลยร่วมจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนครบถ้วนตามสัญญาประกันภัยให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยร่วมทันทีเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าวไม่มีข้อความระบุต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยร่วมแล้วจำเลยจะหลุดพ้นความรับผิด ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ก็มอบกุญแจรถยนต์ให้แก่จำเลยร่วมแล้ว การที่จำเลยที่ 1 หรือโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจำเลยร่วมจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัย และไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงค่าสินไหมทดแทนไว้ แม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะเห็นว่าไม่เป็นสาระนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share