คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยหักเงินประกันการทำงานของโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยมีประกาศเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานแก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก
เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ช่วยสมุห์บัญชี ต่อมาโจทก์ลาออกจากงาน จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้ายระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2546 เป็นเงิน 10,443.50 บาท ค้างจ่ายเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายค่าพาหนะไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2546 จำนวน 280 บาท และจำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ทวงถามแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 30,725.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระเงินเพิ่มเมื่อพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2546 ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่าย ทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเมื่อโจทก์ลาออก จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าพาหนะเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ไปส่งเอกสารตามที่จำเลยนัดหมาย สำหรับเงินประกันการทำงานนั้นมีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงไว้เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นพนักงานเพื่อตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันการทำงาน 20,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ข้อ 2.3 ประการเดียวว่า จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานและเงินเพิ่มทุกระยะเวลาเจ็ดวันแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี และในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ปรากฏว่าจำเลยได้หักเงินประกันการทำงานจากโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยได้มีประกาศ เรื่อง ระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่อง ระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าวได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ลาออก เมื่อโจทก์ยื่นใบลาออกในวันที่ 11 มีนาคม 2546 และมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2546 จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 เมื่อจำเลยไม่คืนจึงต้องเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2546 อันเป็นวันผิดนัดตลอดระยะเวลาที่ยังไม่คืนแก่โจทก์ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 10 วรรคสอง สำหรับเงินเพิ่มซึ่งนายจ้างจะต้องเสียให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันนั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจหรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ก่อนพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออกยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง แต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงินประกันการทำงานอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share