คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพยืสินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคตหาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมิสทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัท ต. แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขที่จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพากโดยเจตนาครอบครองใช้สอยอย่างเจ้าของ จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญา โดยมีเงื่อนไขนั้นแล้ว โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อได้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขณะทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย รถยนต์บรรทุกดังกล่าวไมได้ชำรุดทรุดโทรม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ได้ขายรถยนต์บรรทุกพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาขายรถยนต์โดยมีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดที่ 7 แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 8 ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2540 สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์ยึดรถยนต์บรรทุกพิพาทคืนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2542
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไข ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วยแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาท เจตนาครอบครองใช้สอยรถยนต์บรรทุกพิพาทอย่างเจ้าของ จะมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขนั้น และสามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อนั้นได้ ถือว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไข ข้อ 2 มีข้อกำหนดว่า หากโจทก์จะขายหรือให้บุคคลใดเช่าซื้อ โจทก์จะต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทยังเป็นของบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด แต่โจทก์ปกปิดมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อทราบ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะ เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมิใช่ข้อจำกัดสิทธิห้ามมิให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงมีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้เองโดยไม่ถูกจำกัดสิทธิตามสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขนั้น แม้โจทก์จะมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อทราบ ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ที่จะไปว่ากล่าวกันเอง ไม่มีผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือยินยอมให้เช่าซื้อช่วงไม่ผูกพันบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด เพราะนายเชิดชัย ดวงแก้ว ผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้นไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด โจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะมาแต่แรกนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขไม่มีข้อจำกัดสิทธิห้ามมิให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ย่อมมีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้เอง ไม่มีความจำเป็นต้องให้บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ให้ความยินยอมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น นายเชิดชัยจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด หรือไม่และหนังสือให้ความยินยอมจะผูกพันบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด หรือไม่ ย่อมไม่กระทบถึงอำนาจในการทำสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share