แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้หนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจช่วง และสัญญาโอนสินทรัพย์ เป็นสำเนาเอกสาร แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งบันทึกเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีในช่วงเวลาที่โจทก์นำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสืบสำเนาเอกสารว่าไม่ถูกต้อง ศาลไม่ควรรับเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 คงมีแต่เพียงคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารใช่หรือไม่เท่านั้น ถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) ส่วนหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเป็นต้นฉบับเอกสาร การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนหนี้ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 9 ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ หรือบอกกล่าวการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 โจทก์จึงเข้าสวมสิทธิของธนาคาร ท เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองได้ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น การฟ้องคดีของโจทก์ฟ้องโดยอาศัยข้อสันนิษฐานอื่นไม่ใช่ข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) เรื่องการทวงถาม จึงไม่ต้องทวงถามก่อนฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ให้การต่อสู้คดี และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 15342/2538 ต้นเงินและดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องรวมจำนวน 4,616,129.27 บาท จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีต้นฉบับเอกสารการโอนสิทธิเรียกร้อง ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอมในการโอน และโจทก์ไม่ได้ทวงถามก่อนฟ้อง การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์มีนายธนาชัย นิติสโมสร ให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว และหนี้สินด้อยคุณภาพประการอื่นมาจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาสัญญาและหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ในการดำเนินคดีโจทก์ โดยนายสมศักดิ์ ขุนเจริญ มอบอำนาจช่วงให้พยานเป็นผู้ดำเนินคดี ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจช่วงและสัญญาโอนสินทรัพย์ เอกสารหมาย จ.3 จ.4 และ จ.7 เป็นสำเนาเอกสาร แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 31 มกราคม 2545 ซึ่งบันทึกเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีในช่วงเวลาที่โจทก์นำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสืบสำเนาเอกสารว่าไม่ถูกต้อง ศาลไม่ควรรับเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 คงมีแต่เพียงคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านนายธนาชัยว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารใช่หรือไม่เท่านั้น ถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้วจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1) ส่วนหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.8 เป็นต้นฉบับเอกสารการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนหนี้ด้อยคุณภาพตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 9 ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ หรือบอกกล่าวการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 โจทก์จึงเข้าสวมสิทธิของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองได้ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น การฟ้องคดีของโจทก์ฟ้องโดยอาศัยข้อสันนิษฐานอื่น ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) เรื่องการทวงถาม จึงไม่จำต้องทวงถามก่อนฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์ฟ้องอ้างข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดบังคับคดี และนายธนาชัย นิติสโมสร ให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ฝ่ายโจทก์เคยตรวจสอบทรัพย์สินจำพวกที่ดินของจำเลยทั้งสองที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ไม่พบว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินตามคำขอตรวจรายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ.12 จึงไม่อาจบังคับดคีแพ่งได้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหน้าที่จำเลยที่ 2 ต้องนำสืบหักล้างว่าตนมีทรัพย์สินและสามารถชำระหนี้ได้ ตามทางนำสืบจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดที่มีมูลค่าสามารถชำระหนี้ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าตึกแถวห้องเลขที่ 29/8 ตามภาพถ่ายหมาย จ.11 เป็นของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งยังดำเนินธุรกิจอยู่ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงหลักฐานโฉนดที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวห้องเลขที่ดังกล่าวหรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารตึกแถวดังกล่าวว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นเพียงหลักฐานชำระค่าปรับที่บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ได้เสนอบัญชีงบดุลประจำปี ไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นมูลค่าที่พอชำระหนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินที่สามารถพอชำระหนี้โจทก์ได้ หรือมีเหตุอันควรประการอื่นที่ไม่ควรล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน