คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5852/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระยะเวลาบอกล้างโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคสอง ไม่ใช่อายุความ จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191(เดิม) ที่จะย่นเข้าไม่ได้เมื่อจำเลยผู้รับประกันชีวิตยอมลดระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมจากกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิตลงมาเป็นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2525 นายครรชิต ไชยาคมได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ ต่อมานายครรชิตถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2529 อันเป็นช่วงระยะเวลาอยู่ในระหว่างการคุ้มครองและมีผลบังคับของกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจะต้องจ่ายเงินที่เอาประกันชีวิตให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 530,000 บาทโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสาเหตุแห่งการตายของนายครรชิตผู้เอาประกันชีวิตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และได้ส่งเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายครรชิต รวมทั้งได้มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อขอรับเงินประกันชีวิตจากจำเลย จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์อ้างว่าได้บอกล้างกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวแล้ว เพราะนายครรชิตผู้เอาประกันชีวิตได้ให้ถ้อยคำในคำขอต่ออายุกรมธรรม์ว่า สุขภาพสมบูรณ์ ไม่เคยเจ็บป่วยทำให้จำเลยสำคัญผิดต่ออายุกรมธรรม์ให้นายครรชิต ก่อนจำเลยจะรับประกันชีวิตก็ดี ต่ออายุกรมธรรม์ดังกล่าวก็ดี จำเลยได้ส่งแพทย์ของจำเลยมาทำการตรวจร่างกายของนายครรชิตแล้ว หากจะมีความผิดพลาดจากความจริงก็เป็นความผิดพลาดของแพทย์ของจำเลยซึ่งควรจะรู้ได้เช่นนั้น ถ้าได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้เช่นวิญญูชน การบอกเลิกสัญญาของจำเลยมิได้บอกล้างภายในกำหนดระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้แจ้งรายละเอียดสาเหตุแห่งการตายของผู้เอาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันชีวิตทราบมูลอันจะบอกล้างได้ จึงถือว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับไปตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้เงินจำนวน 537,949.92 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 530,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายครรชิตปิดบังความจริงและไม่ให้ถ้อยแถลงความจริงต่อจำเลยจึงเป็นเหตุให้จำเลยพิจารณาต่ออายุกรมธรรม์ให้นายครรชิต หากนายครรชิตให้ถ้อยแถลงตามความเป็นจริงแล้วจำเลยจะบอกปัดไม่ต่ออายุกรมธรรม์หรือทำสัญญาประกันชีวิตให้สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะกรรม จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่านายครรชิตถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2529 จำเลยได้ทำการสอบสวนพิสูจน์มรณกรรมตามวิธีการของจำเลย เมื่อจำเลยทราบถึงสาเหตุแห่งการที่สัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะกรรมตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว จำเลยก็ได้ปฏิเสธความรับผิดและบอกล้างกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวโดยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 และคืนเบี้ยประกันให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 44,804.52 บาท โดยโจทก์ได้รับไปแล้ว ดังรายละเอียดหนังสือลงวันที่ 30 มกราคม 2530 สัญญารับประกันชีวิตก็ดี การต่ออายุกรมธรรม์ของนายครรชิตก็ดีจึงตกเป็นโมฆะ คือ เสียเปล่าตั้งแต่เริ่มแรก โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินประกันชีวิตหรือสินไหมมรณกรรมจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 530,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม2529 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าระหว่างที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยแล้ว แต่ยังมิได้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกานายชัยยะ ไชยาคมยื่นคำร้องว่า โจทก์ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534นายชัยยะเป็นบุตรโจทก์และเป็นทายาทจึงขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยแล้ว คดีย่อมอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้นายชัยยะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และศาลฎีกาได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมาแล้วได้ความว่า นายชัยยะเป็นทายาทของโจทก์จึงอนุญาตให้นายชัยยะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะได้
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสองเป็นอายุความ ต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 191 (เดิม) เห็นว่า ระยะเวลาบอกล้างโมฆียะกรรมไม่ใช่อายุความจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 (เดิม)ที่จะย่นเข้าไม่ได้ เมื่อจำเลยสมัครใจยอมลดระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมจากกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 865 วรรคสอง ลงมาเป็นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น”
พิพากษายืน

Share