แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า “เงินปันผล” ไว้โดยเฉพาะการพิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากผู้ชำระบัญชีของบริษัท ข. เป็นเงินปันผลหรือไม่จึงต้องพิเคราะห์จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับเงินปันผลและเงินสำรองของบริษัทจำกัดไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ22 หมวด ส่วนที่ 3 ข้อ 5 ตั้งแต่มาตรา 1200 ถึงมาตรา 1205
ในระหว่างการชำระบัญชีของบริษัท ข. แม้จะถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่การที่ผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินและดำเนินการต่าง ๆหลังจากจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทมีรายได้ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ขยายออกไป ก็เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ในระหว่างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นเพื่อชำระสะสางการงานของบริษัทให้สิ้นไป และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเท่านั้นรายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นในระหว่างการชำระบัญชีที่มีเหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงมิใช่ผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทและเป็นทรัพย์สินของบริษัทที่จะต้องแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนเมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้วหรือเมื่อชำระบัญชีเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ข. เมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว จึงมิใช่เงินปันผลที่ได้จากบริษัทซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่บริษัทเลิกกัน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์แต่ละคนลงทุนในบริษัท โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 332/2543 ว่าโจทก์ที่ 1 โจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 333/2543 ว่าโจทก์ที่ 2 โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 334/2543 ว่าโจทก์ที่ 3 โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 335/2543 ว่าโจทก์ที่ 4 โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 336/2543 ว่าโจทก์ที่ 5 โจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 337/2543 ว่าโจทก์ที่ 6 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้งหงวน จำกัด ซึ่งชำระบัญชีและจดทะเบียนขอเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 15สิงหาคม 2540 โจทก์ที่ 5 เป็นสามีนางสมศรี กาญจนาลัย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้งหงวน จำกัด และเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเอาเงินได้พึงประเมินของภริยามาถือเป็นเงินได้ของโจทก์ที่ 5 เมื่อปี 2533 บริษัทเข้งหงวน จำกัดได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ขอเลิกบริษัท ผู้ชำระบัญชีได้ขายและรวบรวมรายได้คือกำไรจากการขายยางและมะพร้าวจำนวน 989,438.96 บาท รายได้เงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่ได้รับตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503จำนวน 20,623 บาท ดอกเบี้ยรับจำนวน 1,729,155.86 บาท ค่าเช่าจำนวน 204,500บาท ค่าขายที่ดินจำนวน 241,698,853.24 บาท รายได้อื่น ๆ จำนวน 301,907.10 บาทหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิสิ้นปี เมื่อนำขาดทุนสุทธิสะสมยกมาจากปีก่อนหักแล้วคงมีกำไรสะสมสิ้นปีก่อนการจ่ายเงินปันผลจำนวน 130,531,347.33 บาทบริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งสิ้นจำนวน 126,000,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ภริยาโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ได้รับรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม2542 จำนวน 5,715,000 บาท 1,080,000 บาท 1,125,000 บาท 17,388,000 บาท2,205,000 บาท และ 12,879,000 บาท ตามลำดับ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28เมษายน 2542 จำนวน 2,286,000 บาท 432,000 บาท 450,000 บาท 6,955,200บาท 882,000 บาท และ 5,151,000 บาท ตามลำดับ โดยทั้งสองครั้งบริษัทเข้งหงวนจำกัด ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 10 ในลักษณะของเงินได้เงินปันผล ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2543 โจทก์ทั้งหกได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ว่าโจทก์ทั้งหกมีเงินได้ต่าง ๆ รวมเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษี 2542 เป็นเงินปันผลทั้งสิ้นจำนวน 8,001,000 บาท 1,512,000 บาท 1,575,000 บาท 24,343,200 บาท3,087,000 บาท และ 18,030,000 บาท ตามลำดับ และได้รับการเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคำนวณตามแบบแสดงรายการแล้ว โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินจากจำเลยเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 459,700 บาท337,172.94 บาท 303,840 บาท 118,890 บาท 323,292 บาท และ 448,600 บาทตามลำดับ โจทก์ทั้งหกทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งหกพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ. 2536) ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 27,582 บาท20,230.38 บาท 18,230.40 บาท 7,133.40 บาท 19,397.52 บาท และ 26,916บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 487,282 บาท 357,403.32 บาท 322,070.40 บาท 126,023.40 บาท 342,689.52 บาท และ 475,516 บาท ตามลำดับ ขอให้พิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ทั้งหกจำนวน 487,282 บาท 357,403.32 บาท 322,070.40 บาท 126,023.40 บาท 342,689.52 บาท และ 475,516 บาท ตามลำดับ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ของเงินภาษีจำนวน 459,700 บาท 337,172.94 บาท 303,840 บาท118,890 บาท 323,292 บาท และ 448,000 บาท ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การในทำนองเดียวกันว่าบริษัทเข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 เนื่องจากประกอบกิจการขาดทุนปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระบัญชี จึงไม่มีกำไรหรือกำไรสะสมเพียงพอที่จะนำมาจ่ายเงินปันผลหรือแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ และระหว่างการชำระบัญชีนั้น ผู้ชำระบัญชีได้รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทและยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 แสดงรายงานเงินได้และภาษีหัก ณ ที่จ่ายแจ้งว่าได้จ่ายเงินปันผลให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และภริยาโจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 และวันที่ 28 เมษายน 2542 โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทั้งสองครั้ง เงินได้ที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเข้งหงวน จำกัด ครอบครองอยู่ระหว่างการชำระบัญชี มิใช่กำไรจากการดำเนินงาน จึงมิใช่เงินปันผลตามมาตรา 40(4)(ข)แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากมิได้จ่ายจากเงินกำไรของบริษัทตามมาตรา 1201 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เงินได้ที่ผู้ชำระบัญชีจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นตามที่กล่าวถึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฉ) จะไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ อันเป็นเหตุให้ไม่มีภาษีที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ทั้งหก นอกจากนี้โจทก์ทั้งหกได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2542สำแดงรายรับ ตามมาตรา 40(4)(ข) ว่าเป็นเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทเข้งหงวน จำกัดและได้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ และขอคืนเงินภาษีที่ชำระเกิน แต่ขณะยื่นแบบภ.ง.ด. 90 ยังอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี และบริษัทเข้งหงวน จำกัด ไม่ได้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีจากเงินปันผลดังกล่าว แต่โจทก์ได้นำเงินได้ดังกล่าวมาเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรด้วย การยื่นแบบดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และไม่มีกรณีการจัดเก็บภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทเข้งหงวน จำกัด ผู้จ่ายเงินก็ยังมิได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และยังไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เงินได้ที่ผู้ชำระบัญชีจ่ายดังกล่าว ไม่มีสิทธิเครดิตในการคำนวณภาษีตามมาตรา 47 ทวิ และไม่มีเงินภาษีที่ต้องคืน โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยตามที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องอีกด้วย คดีนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งหกยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี2542 นั้นได้ขอเครดิตการคำนวณภาษีไว้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่การตรวจสอบของเจ้าพนักงานของจำเลย ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิที่จะเครดิตการคำนวณภาษีดังกล่าวที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นและไม่มีเงินภาษีที่จะต้องคืนให้ และเจ้าพนักงานของจำเลยยังไม่ได้พิจารณาและสั่งเกี่ยวกับการขอคืนเงินภาษีอากรของโจทก์ทั้งหก จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิการขอคืนเงินภาษีอากรของโจทก์ทั้งหก นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ได้ขอคืนภาษีจากจำเลยจึงเท่ากับโจทก์ที่ 5ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการขอคืนภาษี โจทก์ที่ 5 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหก
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และภริยาโจทก์ที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้งหงวน จำกัด บริษัทเข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 และขณะที่โจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการชำระบัญชี ในรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 16 สิงหาคม2540 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2541 บริษัทเข้งหงวน จำกัด มีรายได้จากการขายที่ดิน ยางและมะพร้าว เงินสงเคราะห์สวนยาง ดอกเบี้ยรับและรายได้อื่น ๆ รวม จำนวน13,478,152.22 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและขาดทุนสะสมยกมาไม่เกิน 5 ปีแล้ว ได้นำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและยังมีขาดทุนสะสมอีกจำนวน 28,126,819.64 บาทรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 16 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2542 บริษัทเข้งหงวนจำกัด มีรายได้จากการขายที่ดิน ยางและมะพร้าวเงินสงเคราะห์สวนยาง ดอกเบี้ยรับค่าเช่าและรายได้อื่น ๆ รวมจำนวน 244,944,778.16 บาท เมื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวและหักขาดทุนสะสมแล้ว เหลือเงิน จำนวน130,531,347.33 บาท ผู้ชำระบัญชีนำไปจ่ายให้ผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 126,000,000บาท โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ภริยาโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ได้รับจำนวน 8,001,000 บาท1,512,000 บาท 1,575,000 บาท 24,343,200 บาท 3,087,000 บาท และ18,030,000 บาท ตามลำดับ โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งให้จำเลยแล้ว โจทก์ทั้งหกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2542 สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวและอ้างว่าได้รับการเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วขอรับภาษีคืนจำนวน 459,700 บาท 337,172.94 บาท303,840 บาท 118,890 บาท 323,292 บาท และ 448,600 บาทตามลำดับ แต่จำเลยไม่คืนให้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกมีว่าเงินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ภริยาโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ได้รับจำนวนดังกล่าวเป็นเงินปันผลตามมาตรา 40(4)(ข) หรือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร เห็นว่าประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า “เงินปันผล” ไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นการพิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ทั้งหกได้รับจากผู้ชำระบัญชีของบริษัทเข้งหงวนจำกัด ดังกล่าวเป็นเงินปันผลหรือไม่จึงต้องพิเคราะห์จากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับเงินปันผลและเงินสำรองของบริษัทจำกัดไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ข้อ 5 ตั้งแต่มาตรา 1200 ถึงมาตรา 1205 โดยมาตรา 1200 บัญญัติว่า การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวน ซึ่งผู้ถือหุ้นได้ส่งเงินในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ มาตรา 1201วรรคสาม บัญญัติว่า ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะแก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น และมาตรา 1202 บัญญัติให้บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้ เป็นทุนสำรองไว้อย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัททุกคราวที่แจกเงินปันผลจนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เงินปันผลที่บริษัทจำกัดจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกำไรที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้และเพื่อป้องกันมิให้บริษัทนำผลกำไรที่ได้รับดังกล่าวมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมดจนขาดเงินทุนหมุนเวียน ในการประกอบกิจการต่อไป มาตรา 1202 จึงบังคับให้บริษัทต้องจัดสรรกำไรที่ได้รับจากการประกอบกิจการส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองทุกคราวที่จ่ายเงินปันผล แต่เมื่อบริษัทเลิกกันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงการชำระบัญชีของบริษัทไว้โดยเฉพาะในหมวด 5 ของลักษณะ 22 โดยกำหนดไว้ในมาตรา 1249 ให้ถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชีและกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ในมาตรา 1250 ว่าหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงิน และแจกจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทนั้น โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้ชำระบัญชีจะมีอำนาจที่จะกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ส่วนทรัพย์สินของบริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้น ตามมาตรา 1269 นอกจากนี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 72 วรรคสอง ยังบัญญัติให้ถือว่าวันที่จดทะเบียนเลิกบริษัทเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และให้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีตามแบบและภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากรโดยอนุโลม หากไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว มาตรา 72 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีก และอธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกด้วยก็ได้ ดังนั้น ในระหว่างการชำระบัญชีของบริษัทเข้งหงวน จำกัด แม้จะถือว่าบริษัทดังกล่าวยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่การที่ผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินของบริษัทและดำเนินการต่าง ๆหลังจากจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทมีรายได้ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ขยายออกไปดังกล่าว ก็เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ในระหว่างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นเพื่อชำระสะสางการงานของบริษัทให้สิ้นไป และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเท่านั้นรายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นในระหว่างการชำระบัญชีดังกล่าวที่มีเหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงมิใช่ผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทและเป็นทรัพย์สินของบริษัทที่จะต้องแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนเมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้ว หรือเมื่อชำระบัญชีเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 เงินที่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 ภริยาโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ได้รับจากบริษัทเข้งหงวน จำกัด เมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำนวนดังกล่าว จึงมิใช่เงินปันผลที่ได้จากบริษัทซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่บริษัทเข้งหงวน จำกัด เลิกกัน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ)แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์แต่ละคนลงทุนในบริษัทดังกล่าว โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน