แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอันเป็นตัวแทนทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ.1961 ข้อ 1 และการทำงานของโจทก์ในสถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยเป็นการทำงานในภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยมิได้เป็นลูกจ้างในกิจการทางวิชาชีพหรือการพาณิชย์อันเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัวของจำเลย จึงไม่เข้าขอยกเว้นการได้รับความคุ้มกันทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ.1961 ข้อ 31 เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการสละความคุ้มกันตาม ข้อ 32 และไม่ปรากฏว่า จำเลยถูกเพิกถอนหรือจำกัดความคุ้มกันทางการทูตดังกล่าว จำเลยจึงได้รับความคุ้มกันจากอำนาจศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 มาตรา 3 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 35,712.70 บาท เงินโบนัส 18,159 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างค้างจ่าย 16,343.10 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 16,948.40 บาท ค่าชดเชย 18,159 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งสำนักงานศาลยุติธรรมว่า เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยเป็นตัวแทนการทูตซึ่งได้รับการคุ้มกันจากอำนาจศาลของไทยตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 ซึ่งมีพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 เป็นกฎหมายอนุวัติการ ศาลแรงงานกลางสอบโจทก์แล้ว โจทก์แถลงว่าจำเลยเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย
ศาลแรงงาน เห็นว่า เมื่อจำเลยอ้างเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 มาตรา 3 จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยได้รับความคุ้มกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 มาตรา 3 บัญญัติให้รัฐผู้ส่งคณะผู้แทน คณะผู้แทน หัวหน้าคณะผู้แทนบุคคลในคณะผู้แทน บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต ตัวแทนทางทูต บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ สมาชิกในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน และคนรับใช้ส่วนตัว รวมตลอดถึงสถานที่ ทรัพย์สินและบรรณสารของคณะผู้แทนของบุคคลในคณะผู้แทนหรือของสมาชิกในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตข้อ 31 บัญญัติให้ตัวแทนทางทูตจะได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญาของรัฐผู้รับตัวแทนทางทูต จะได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางแพ่งและทางปกครองของรัฐผู้รับ เว้นแต่เป็นกรณีการดำเนินคดีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัว การดำเนินคดีเกี่ยวกับมรดกซึ่งผู้แทนทางทูตเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล ในฐานะทายาทหรือผู้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวหรือการดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจกรรมในวิชาชีพหรือการพาณิชย์อันเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัวเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอันเป็นตัวแทนทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ข้อ 1 และการทำงานของโจทก์ในสถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยเป็นการทำงานในภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยมิได้เป็นลูกจ้างในกิจการทางวิชาชีพหรือการพาณิชย์อันเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัวของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการได้รับความคุ้มกันทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ข้อ 31 เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการสละความคุ้มกันตามข้อ 32 และไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกเพิกถอนหรือจำกัดความคุ้มกันทางการทูตดังกล่าวตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 มาตรา 4 จำเลยจึงได้รับความคุ้มกันจากอำนาจศาลแรงงานกลางตามมาตรา 3 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.