คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 การลงโทษปรับผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะมีผู้ร่วมกระทำความผิดจำนวนกี่คน ศาลจะต้องลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ไม่เกินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งต้องลงโทษปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดทุกคนรวมกันเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเมื่อจำเลยคดีนี้กระทำความผิดตามฟ้องร่วมกับ จ. แม้จะปรากฏว่าความผิดครั้งเดียวกันนี้ศาลได้ลงโทษปรับ จ. เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วไปแล้วในคดีก่อนก็ตาม ความผิดของจำเลยคดีนี้ก็หาระงับลงไม่ ต้องลงโทษปรับจำเลยคดีนี้ด้วย โดยปรับจำเลยคดีนี้รวมกับ จ. เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยต้องถือว่าค่าปรับจำเลยคดีนี้เป็นจำนวนเดียวกับค่าปรับ จ. แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้ว่า หาก จ. ชำระค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับไปแล้วในคดีก่อนเพียงใดก็ให้นำมาหักออกจากโทษปรับของจำเลยคดีนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคดีรวมกันเป็นเงินเกินกว่าสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับด้วยว่า ในกรณีที่ต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากความผิดตามฟ้องมีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คน
บุคคลสองคนร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 เมื่อคนหนึ่งถูกศาลพิพากษาลงโทษ โดยศาลสั่งริบของกลางและจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางไปแล้ว ของกลางในคดีก่อนกับของกลางในคดีนี้เป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลสั่งริบของกลางแล้วและไม่ปรากฏว่าของกลางที่สั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ จึงต้องจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางตาม พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ มาตรา 7 และ 8 วรรคสองให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมเพียงครั้งเดียว
การจ่ายรางวัลซ้ำซ้อนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
(ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับ 220,800 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้จำเลยชำระค่าปรับภายใน 30 วัน มิฉะนั้นให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ในระหว่างนี้ให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในคำฟ้อง นายตรวจศุลกากรด่านศุลกากรคลองใหญ่จับกุมจำเลยและนายจัน วุฒิ จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น ได้พร้อมด้วยเรือประมงชื่อ ช. ชาติชโลธร 1 ลำ รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1596 ตราด 1 คัน และสินค้าปลาป่นจำนวน 250 กระสอบ น้ำหนักรวม 12,000 กิโลกรัม ราคา 48,000 บาท ซึ่งเป็นของที่ต้องเสียอากรขาเข้าจำนวน 7,200 บาท รวมราคาของและอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงินจำนวน 55,200 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ โดยในปัญหาข้อนี้จำเลยได้ฎีกาว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าปลาป่นของกลางผลิตจากประเทศใดจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เห็นว่า โจทก์มีนายเทียนเกียรติ โชติสกุล นายตรวจศุลกากร 5 ผู้จับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกการตรวจค้นจับกุม ซึ่งระบุว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนถามนายจันผู้ควบคุมเรือและจำเลยผู้ควบคุมรถยนต์บรรทุกสิบล้อเกี่ยวกับการได้มาของสินค้าปลาป่นของกลางได้รับคำชี้แจงว่าได้ขนสินค้าดังกล่าวมาจากประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา และให้มาขนถ่ายขึ้นรถยนต์ที่ท่าเทียบเรือชลาลัย โดยจำเลยได้ลงชื่อรับรองความถูกต้องในเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ยังได้ความจากบันทึกคำให้การของนายจันอีกว่านายจันได้ให้การต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรยอมรับว่าได้บรรทุกปลาป่นจำนวน 250 กระสอบ มาจากประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา โดยไม่ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรเอกสารดังกล่าวทำขึ้นโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้รับผิดชอบซึ่งได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้บันทึกคำให้การของนายจันไปตามที่นายจันให้การเองโดยสมัครใจส่วนจำเลยไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ปลาป่นของกลางได้ผลิตจากประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา และนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น ได้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้นอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น เห็นว่า ตามบันทึกคำให้การของนายจันดังกล่าวข้างต้นนายจันให้การยอมรับว่า ได้บรรทุกปลาป่นจำนวน 250 กระสอบ จากจังหวัดกัมปงโสมประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เวลาเย็นของวันที่ 29 มีนาคม 2541 มาที่ท่าเทียบเรือชลาลัยในเวลาเช้าของวันเกิดเหตุ ครั้นเวลาประมาณ 13 นาฬิกา มีรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-1596 ตราด มาขนปลาป่นขึ้นรถไปบางส่วนประมาณ 100 กระสอบ ก็ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ (ศุลกากร) มาตรวจค้นและจับกุมเสียก่อนความในข้อนี้นายเทียนเกียรติพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยได้เบิกความยืนยันว่าขณะที่พยานตรวจพบสินค้าปลาป่นของกลางนั้น พยานได้สอบถามแล้ว ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ควบคุมรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง โดยรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวจอดอยู่ที่ท่าเทียบเรือชลาลัยและได้มีการขนถ่ายสินค้าปลาป่นพิพาทจำนวนมากขึ้นไปบนรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยควบคุมดูแล นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของคู่ความว่าที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีโรงงานผลิตปลาป่นจำนวน 2 แห่ง แต่จำเลยกลับขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปขนถ่ายปลาป่นของกลางที่ท่าเทียบเรือชลาลัย มิใช่โรงงานผลิตปลาป่น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น ลักลอบนำปลาป่นจำนวน 250 กระสอบ อันเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในประเทศราชอาณาจักรกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมิได้เสียค่าภาษีศุลกากร พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ศาลลงโทษปรับนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยไปแล้วเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 220,800 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 110,400 บาท ศาลจะลงโทษปรับจำเลยในคดีนี้ได้อีกหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรไทยก็ดี หรือส่ง หรือพาของเช่นว่านี้ออกไปนอกพระราชอาณาจักรก็ดี หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามาหรือส่งออกไปก็ดีหรือย้ายถอนไป หรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนไปซึ่งของดังกล่าวนั้นจากเรือกำปั่นท่าเทียบเรือ โรงเก็บสินค้า คลังสินค้า ที่มั่นคง หรือโรงเก็บของโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดีหรือให้ที่อาศัยเก็บ หรือเก็บ หรือซ่อนของเช่นว่านี้ หรือยอม หรือจัดให้ผู้อื่นทำการเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการขนหรือย้ายถอนหรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใดๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของ โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้นๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำ” การลงโทษปรับผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าจะมีผู้ร่วมกระทำความผิดจำนวนกี่คน ศาลจะต้องลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ไม่เกินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งต้องลงโทษปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดทุกคนรวมกันเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว มิใช่แบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน หรือปรับคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยคดีนี้กระทำความผิดตามฟ้องร่วมกับนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น แม้จะปรากฏว่าความผิดครั้งเดียวกันนี้ศาลได้ลงโทษปรับนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วไปแล้วก็ตาม ความผิดของจำเลยคดีนี้ก็หาได้ระงับลงไม่ ศาลฎีกาจึงต้องลงโทษปรับจำเลยคดีนี้ด้วยโดยปรับจำเลยคดีนี้รวมกับนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเป็นเงินจำนวน 220,800 บาท ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา โดยต้องถือว่าค่าปรับจำเลยคดีนี้เป็นจำนวนเดียวกันกับค่าปรับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้ว่าหากนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้นชำระค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับไปแล้วเพียงใดก็ให้นำมาหักออกจากโทษปรับของจำเลยคดีนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคดีรวมกันเป็นเงินเกินกว่าสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และต้องกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับด้วยว่า ในกรณีที่ต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากความผิดตามฟ้องมีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยคดีนี้โดยมิได้ระบุว่าโทษปรับคดีนี้เป็นโทษปรับจำนวนเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้นและมิได้กำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนจึงยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ตามฎีกาของจำเลยและเอกสารแนบท้ายฎีกาซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งปรากฏว่าความผิดของจำเลยและนายจัน จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้นในครั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น ให้ริบของกลางและจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางไปแล้วสินค้าปลาป่นของกลางในคดีดังกล่าวกับสินค้าปลาป่นของกลางในคดีนี้เป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นสั่งริบของกลางซึ่งเป็นปลาป่นแล้ว และไม่ปรากฏว่าของกลางที่สั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ จึงต้องจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางจากเงินที่ได้จากการขายสินค้าปลาป่นของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 วรรคสอง ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมเพียงครั้งเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีนี้ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับอีกจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการให้จ่ายรางวัลซ้ำซ้อนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นเงินจำนวน 220,800 บาท อันเป็นจำนวนเดียวกับค่าปรับในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้นโดยกำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้ว่าหากจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1823/2541 ของศาลชั้นต้น ชำระค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับในคดีดังกล่าวแล้วเพียงใดก็ให้นำมาหักออกจากค่าปรับของจำเลยคดีนี้ และในกรณีต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยได้ไม่เกินกำหนด 1 ปี กับให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share