แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกัน 5 ครั้งมาเป็นเวลานานเกือบ 1 ปี ไม่ยอมนำสืบพยานหลักฐาน การขอเลื่อนครั้งที่สี่ศาลชั้นต้นกำชับไว้แล้วว่าจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกและให้ผู้ร้องเตรียมพยานมาศาลให้พร้อมสืบ ผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้ว ในวันสืบพยานครั้งที่ 5 ผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุ ร. ทนายความติดหาเสียงเลือกตั้งทั้งที่ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความไว้สองคนคือ ร. และ ท. เมื่อไม่ปรากฏว่า ท. ติดภาระใดหรือเจ็บป่วยเหตุขอเลื่อนคดีของผู้ร้องจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอแก่การรับฟัง มีลักษณะเป็นการประวิงคดี
แม้คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) ไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคสาม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินคดีต่อไปและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีโดยไม่ต้องหยุดการพิจารณา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการสมควรและมีคำสั่งให้งดการพิจารณาไว้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้งดการพิจารณาหรืองดการวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงชอบด้วยเหตุผลและกระบวนพิจารณาแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินโฉนดซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับพันโทสุนันท์ อินทรกำแหง และนางสุพรรณี เสมรสุต ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ให้ถอนการยึด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยด้วยการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้ว ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินดังกล่าว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า ที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับพันโทสุนันท์และนางสุพรรณี จึงเป็นทรัพย์สินที่รวบรวมเพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านเกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้ขยาย ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจึงไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องชอบแล้วให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งนัดที่แล้วศาลได้กำชับไว้แล้ว นัดนี้ทนายผู้ร้องขอเลื่อนคดีอีก ทั้งที่แต่งตั้งทนายความไว้ 2 คน กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบให้ได้ความตามคำร้องขอให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้อง
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์และศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์แล้ว กระบวนพิจารณาคงหยุดอยู่เพียงนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เป็นการกระทำให้ศาลผิดหลงว่าต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปขอให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้จะมีอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา กฎหมายให้ศาลดำเนินคดีต่อไปและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลก็ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อถึงวันนัดผู้ร้องไม่มาศาลโดยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้อง มิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ศาลจะยกเลิกเพิกถอนเสียได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาคำสั่งและคำพิพากษา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาตามฎีกาผู้ร้องฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2545 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีและสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่าในระหว่างพิจารณาผู้ร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกัน 5 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 7 เมษายน 2543 อ้างเหตุเอกสารที่ต้องใช้สืบเป็นพยานหลักฐานไม่พร้อม ครั้งที่สองวันที่ 15 มิถุนายน 2543 อ้างเหตุนางสาวรุ่งสุรีย์ อยู่บุญสุข ทนายผู้ร้องป่วยเจ็บเป็นไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่สามวันที่ 29 สิงหาคม 2543 อ้างเหตุนายทรงพล ประภาพิทยาพงษ์ ทนายผู้ร้องคนใหม่ยังไม่ทราบรายละเอียดของคดี ครั้งที่สี่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 อ้างเหตุนางสาวรุ่งสุรีย์ ทนายผู้ร้องต้องไปประชุมพรรคการเมืองที่กรุงเทพมหานคร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีทั้งสี่ครั้ง แต่ในครั้งที่สี่กำชับไว้ว่าในนัดหน้าให้ผู้ร้องเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีก แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ผู้ร้องก็ขอเลื่อนคดีอีกเป็นครั้งที่ห้า อ้างเหตุนางสาวรุ่งสุรีย์ทนายผู้ร้องติดหาเสียงเลือกตั้งเนื่องจากลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ผู้ร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันมาเป็นเวลานานเกือบ 1 ปี ไม่ยอมนำสืบพยานหลักฐาน การขอเลื่อนครั้งที่สี่ศาลชั้นต้นกำชับไว้แล้วว่าจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกให้ผู้ร้องเตรียมพยานมาศาลให้พร้อม ผู้ร้องทราบคำสั่งศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 แล้ว คดีนี้ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความไว้สองคนคือนางสาวรุ่งสุรีย์และนายทรงพล เมื่อนางสาวรุ่งสุรีย์ติดหาเสียงเลือกตั้ง และไม่ปรากฏว่านายทรงพลติดภาระใดหรือป่วยเจ็บ นายทรงพลย่อมปฏิบัติหน้าที่ทนายผู้ร้องได้ และในวันดังกล่าวผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล เหตุขอเลื่อนคดีของผู้ร้องจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอแก่การรับฟัง มีลักษณะเป็นการประวิงคดี ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องแล้ว ศาลชั้นต้นต้องหยุดกระบวนพิจารณาสืบพยานผู้ร้องไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา จึงสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีนั้น เห็นว่า แม้คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 (3) ซึ่งไม่ถือเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและอุทธรณ์ได้นั้น เมื่อรับอุทธรณ์คำสั่งแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 วรรคสาม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินคดีต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไม่ต้องหยุดการพิจารณา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการสมควรและมีคำสั่งให้งดการพิจารณาหรืองดการวินิจฉัยคดีไว้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้งดการพิจารณาหรืองดการวินิจฉัย ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดี และถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์จึงชอบด้วยเหตุผลและกระบวนพิจารณาแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน