คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีเรื่องใดจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากคดีเรื่องนี้เป็นคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะพิจารณาพิพากษาแล้ว ศาลชั้นต้นก็ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ได้ ซึ่งการวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใด ในกรณีเช่นนี้เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 แต่คดีนี้จำเลยมิได้ให้การโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลหรือยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นโต้แย้งในระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา กรณีถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาล เมื่อจำเลยเพิ่งยกปัญหานี้อุทธรณ์ขึ้นมาจึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว และศาลฎีกาก็ไม่อาจส่งให้ประธานศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยด้วย
การที่โจทก์ยอมให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เพื่อเปิดร้านดำเนินกิจการของจำเลย โดยจำเลยยอมจ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเงินค่าตอบแทนในการที่โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เพื่อดำเนินกิจการของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยได้ชื่อทางการค้าของโจทก์ไปเป็นผู้อุปโภคในลักษณะเป็นเจ้าของเองเหมือนกับที่จำเลยซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจากโจทก์ไปใช้ในกิจการของจำเลย ที่จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อไปจากโจทก์ แต่ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่จำเลยมีสิทธิใช้ตามสัญญานั้นยังเป็นสิทธิของโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์เรียกเอาค่าธรรมเนียมหรือเงินค่าตอบแทนในการที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ตามสัญญานั้น จึงไม่ใช่เป็นการที่โจทก์เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นที่จะมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)แต่การเรียกร้องดังกล่าวนี้มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่จำเลยสั่งซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงจากโจทก์ไปจำหน่ายนั้นเป็นกรณีที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ไปเพื่อประกอบกิจการค้าตามวัตถุประสงค์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย จึงมีอายุความเรียกร้อง 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,007,372.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปีของต้นเงิน 504,783.20 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 504,783.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 321,000 บาท นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2538 ในต้นเงิน 15,836 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2538 ในต้นเงิน 44,137.50 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2538 ในต้นเงิน 33,170 บาท นับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ในต้นเงิน 80,517.50 บาท นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2538 ในต้นเงิน 9,630 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2538 และในต้นเงิน 492.20 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจค้าขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2536 โจทก์และจำเลยทำสัญญาสิทธิการประกอบธุรกิจ โดยโจทก์ให้จำเลยจัดตั้งร้านค้าใช้ชื่อว่า “สหวิริยา มินิ โอเอ” ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ แล้วจำเลยจะสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ไปจำหน่าย ทั้งนี้จำเลยชำระเงินเป็นค่าธรรมเนียมให้โจทก์ในวันทำสัญญา 70,000 บาท ในกรณีเปิดร้านที่ 2 ค่าธรรมเนียมจะลดเหลือเพียง 35,000 บาท และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเปิดร้านที่ 3 และจำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ (Franchise Fee) ให้โจทก์เป็นรายปีอีกโดยแบ่งชำระเป็นสองงวดเท่าๆ กัน งวดแรกชำระภายในวันที่ 15 มกราคม งวดที่สองชำระภายในวันที่ 15 มีนาคม เป็นเงินงวดร้อยละ 0.5 ของราคาสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อรวมของปีที่ผ่านไป แต่ทั้งนี้ต้องงวดละไม่น้อยกว่า 25,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขต่างๆ ตามสัญญาสิทธิการประกอบธุรกิจเอกสารหมาย ล.1 จำเลยได้เปิดร้านใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ 3 แห่ง ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2538 ถึงเดือนเมษายน 2538 รวม 7 ครั้ง และค่าธรรมเนียมรายปีในการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์รวม 3 แห่ง เป็นเงินทั้งสิ้น 504,783.20 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามรายการคิดดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.6
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปได้ว่า คดีเรื่องนี้โจทก์และจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้า และสินค้าอันเป็นลิขสิทธิ์ของกลุ่มบริษัทสหวิริยา โอเอ รวมทั้งสัญญาข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบซึ่งเรื่องเขตอำนาจศาลนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นกรณีถือว่าเป็นข้อต่อสู้ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบเพราะเมื่อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้วจำเลยมีสิทธิที่จะหยิบยกขึ้นมาอุทธรณ์ได้โดยชอบ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นก่อนนั้น เห็นว่า คดีเรื่องใดจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากคดีเรื่องนี้เป็นคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะพิจารณาพิพากษาแล้วศาลชั้นต้นก็ย่อมไม่มีอำนาจจะพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ได้ ซึ่งการวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใด ในกรณีเช่นนี้ เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 แต่คดีนี้จำเลยมิได้ให้การโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล หรือยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นโต้แย้งในระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา กรณีถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาล เมื่อจำเลยเพิ่งยกปัญหานี้อุทธรณ์ขึ้นมา จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล และศาลฎีกาก็ไม่อาจส่งให้ประธานศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สี่ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมในการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์และค่าสินค้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาสรุปได้ว่า หากพิจารณาสัญญาสิทธิการประกอบธุรกิจเอกสารหมาย ล.1 แล้ว โจทก์คงมีสิทธิที่จะเรียกค่าธรรมเนียมรายปีจากจำเลยอย่างมากที่สุดตามข้อ 4.4 เป็นเงินทั้งหมดไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเรียกค่าธรรมเนียมเกินไปกว่าที่กำหนดในสัญญาได้ ค่าธรรมเนียมตามใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารที่โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นฝ่ายเดียว จำเลยไม่เคยยอมรับ การที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดก็ต้องตีความตามสัญญาสิทธิการประกอบธุรกิจเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 4.4 เป็นสำคัญ ประกอบกับปลายปี 2537 จำเลยเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัทสหวิริยา โอเอ และไม่มีหนี้ต่อกันแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อไปอีก ส่วนค่าสินค้านั้นตามสัญญาและข้อเท็จจริงจำเลยประกอบธุรกิจในฐานะเป็นตัวแทนค้าต่าง และเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มบริษัทสหวิริยา โอเอ เท่านั้น การที่กลุ่มบริษัทสหวิริยา โอเอ จัดส่งสินค้าไปให้ตัวแทนค้าต่างจำหน่ายตามปกติทางการค้า เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าไปใช้สำหรับตนเอง โดยเฉพาะใบส่งสินค้าตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่ถือว่าจำเลยได้รับสินค้าที่สั่งซื้อในกรณีพิเศษแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พ่วงไปใช้ในกิจการส่วนตัว จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบโจทก์ ข้อกำหนดตามสัญญาเป็นการเอาเปรียบจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยค้างชำระค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใด และจำเลยสั่งสินค้าจากโจทก์ไปจำหน่ายแล้วไม่ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยโจทก์แนบสำเนาใบกำกับสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อและเอกสารรายงานหนี้ค่าสินค้าและค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ด้วย แต่ตามคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธหนี้ตามฟ้องโจทก์เลย จำเลยคงให้การต่อสู้เพียงว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเท่านั้น คำให้การของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์และหนี้ค่าสินค้าของโจทก์ตามฟ้องเป็นเงิน 504,783.20 บาท ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์และค่าสินค้าของโจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลชั้นต้นก็มิได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว การที่จำเลยอุทธรณ์ปัญหานี้ต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหานี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ ที่จำเลยฎีกาปัญหานี้ขึ้นมายังศาลฎีกาจึงถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่ห้าว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปได้ว่า หนี้ค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์มีลักษณะเป็นค่าการงานที่ทำให้แก่โจทก์ ซึ่งสิทธิการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์นั้นจำเลยไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนในทางการค้าของจำเลยให้บุคคลอื่นต่อไปได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้อุปโภคหรือบริโภคเอง สิทธิการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ไม่ใช่เป็นการที่ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่จะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย หนี้ค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี คดีโจทก์กรณีนี้จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เพื่อเปิดร้านดำเนินกิจการของจำเลยโดยจำเลยยอมจ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์นี้ ค่าธรรมเนียมที่กล่าวอ้างก็เป็นเงินตอบแทนในการที่โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เพื่อดำเนินกิจการของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยได้ชื่อทางการค้าของโจทก์ไปเป็นผู้อุปโภคในลักษณะเป็นเจ้าของเองเหมือนกับที่จำเลยซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจากโจทก์ใปใช้ในกิจการของจำเลย ที่จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อไปจากโจทก์ แต่ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่จำเลยมีสิทธิใช้ตามสัญญานั้นยังเป็นสิทธิของโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์เรียกเอาค่าธรรมเนียมหรือเงินค่าตอบแทนในการที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ตามสัญญานั้น จึงไม่ใช่เป็นการที่โจทก์เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นที่จะมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่การเรียกร้องดังกล่าวนี้มิได้มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนค่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ที่จำเลยฎีกาสรุปได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนค้าต่าง ไม่ได้ซื้อสินค้ามาเพื่อประกอบกิจการของจำเลยเอง แต่ทำไปเพื่อประโยชน์ฝ่ายเจ้าหนี้คือโจทก์หรือกลุ่มบริษัทสหวิริยา โอเอ ตามสัญญาสิทธิการประกอบธุรกิจเอกสารหมาย ล.1 ดังนั้น อายุความหนี้ค่าสินค้าหรือค่าของที่ได้ส่งมอบจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 (1) ไม่ใช่อายุความ 5 ปี คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า เนื่องจากตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยเป็นตัวแทนค้าต่างของโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติแล้วว่าจำเลยได้สั่งซื้อสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงไปจำหน่ายอันเป็นกรณีที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ไปเพื่อประกอบกิจการค้าตามวัตถุประสงค์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย จึงมีอายุความเรียกร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้รายละเอียดต้องกันว่า คดีโจทก์เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงจากจำเลยยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share