แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ให้บริการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ ให้สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) คดีนี้แม้จำเลยจะชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 ก็ตาม แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยงดใช้บัตรเครดิตหรือบอกเลิกสัญญาการใช้บัตรเครดิต ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าหลังจากจำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายแล้วจำเลยยังนำบัตรเครดิตไปใช้อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ชำระเงินแทนจำเลยไป โจทก์ส่งใบแจ้งยอดบัญชีเรียกเก็บเงินไปยังจำเลย ให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันครบกำหนดดังกล่าว ไม่ใช่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 ยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามมูลหนี้บัตรเครดิตจำนวน 42,902.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 27 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 28,163.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,163.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทบัตรเครดิต โดยโจทก์ออกบัตรเครดิตให้จำเลยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 หลังจากนั้นจำเลยนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ และถอนเงินสดหลายครั้ง โจทก์ชำระเงินแทนจำเลยไปทุกครั้ง แต่จำเลยไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่โจทก์แจ้งให้ทราบ โดยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 จำนวน 16,100 บาท หลังจากนั้นจำเลยก็ยังนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2543 และวันที่ 5 พฤศจิกายน 2543 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) คดีนี้แม้ว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 ก็ตาม แต่ขณะนั้นโจทก์ยังมิได้แจ้งให้จำเลยงดใช้บัตรเครดิตหรือบอกเลิกสัญญาการใช้บัตรเครดิต โดยโจทก์เพิ่งออกบัตรเครดิตให้จำเลยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าหลังจากจำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว จำเลยยังนำบัตรเครดิตไปใช้อีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ก็ได้ชำระเงินแทนจำเลยไป โจทก์ส่งใบแจ้งยอดบัญชีเรียกเก็บเงินไปยังจำเลย ให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกได้ตั้งแต่วันครบกำหนดดังกล่าว มิใช่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายดังที่จำเลยอ้าง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 ยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 500 บาท แทนโจทก์นั้นต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 600 บาท แทนโจทก์