คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3272/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคีดแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด ดังนี้ คำว่า “ศาลอื่น” หมายถึง ศาลชั้นต้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นปัญหาอำนาจของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลชั้นต้นกับอำนาจของศาลชั้นเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวต้องยุติในศาลชั้นต้นเพื่อมิให้เป็นช่องทางแก่คู่ความในการประวิงคดี หากคู่ความไม่โต้แย้งหรือศาลชั้นต้นไม่ยกปัญหาขึ้นจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แสดงว่าคู่ความยอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลว่าคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์เนื่องมาจากความผิดพลาดที่เกิดจากการมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ ส. แล้ว ส. นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ดังนั้น หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อยอมรับผิดชำระค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 164,701.29 บาท และค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ในต้นเงิน 224,701.29 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายประจำโชว์รูมสาขาบางนา นางสาวกัลยา พัฒนภักดี พนักงานขายประจำสาขาได้ขายรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ให้แก่นางสาวสมลักษณ์ วงศ์ประเสริฐ แต่นางสาวสมลักษณ์ได้รับรถยนต์ไปแล้วยักยอกรถยนต์คันดังกล่าวไปโดยไม่มาทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ในที่สุดโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย ผู้ช่วยฝ่ายขายและพนักงานขายร่วมกันรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ เมื่อหักส่วนของผู้ร่วมรับผิดแล้วคงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบผ่อนใช่ค่าเสียหายเท่ากับราคารถยนต์ที่สูญหายในรูปของสัญญาเช่าซื้อตามฟ้อง เงินดาวน์จำนวน 97,196.26 บาท เป็นเงินดาวน์ของนางสาวสมลักษณ์และพนักงานขายรถยนต์คนอื่นร่วมกันให้โจทก์ราคาส่วนที่เหลืออีก 229,953.20 บาท ให้จำเลยที่ 1 รับผิดผ่อนชำระเดือนละ 4,800 บาทโดยโจทก์หักจากเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ทุกเดือน จำเลยที่ 1 ไม่ได้เช่าซื้อรถยนต์และไม่ได้รับรถยนต์จากโจทก์ ขณะทำสัญญาเช่าซื้อ รถยนต์สูญหายไปแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์คันพิพาทหรือใช้ราคารถยนต์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ใดๆ และดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกตกเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 167,553.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 119,646.28 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนแต่ไม่เกิน 10 เดือน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่นให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด ดังนี้ คำว่า “ศาลอื่น” หมายถึง ศาลชั้นต้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นปัญหาอำนาจของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลชั้นต้นกับอำนาจของศาลชั้นเดียวกันปัญหาดังกล่าวต้องยุติในศาลชั้นต้นเพื่อมิให้เป็นช่องทางแก่คู่ความในการประวิงคดีหากคู่ความไม่โต้แย้งหรือศาลชั้นต้นไม่ยกปัญหาขึ้นจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แสดงว่าคู่ความยอมรับอำนาจศาล และไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลว่าคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้ ในคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อบังคับให้ชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่ได้เช่าซื้อและไม่ได้รับรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา โดยไม่ได้โต้แย้งอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพิ่งยกเป็นประเด็นข้อต่อสู้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้ แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ กับศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษานอกฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายสาขาบางนา มีหน้าที่บริหารงานการขาย เมื่อปี 2535 นางสาวกัลยา พัฒนภักดี พนักงานขายประจำสาขาบางนา ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่นางสาวสมลักษณ์ วงศ์ประเสริฐ ในราคา 299,000 บาท โดยนางสาวสมลักษณ์วางเงินดาวน์ไว้ 60,000 บาท ส่วนที่เหลือจะนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด หลังจากส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่นางสาวสมลักษณ์ไปแล้วต่อมาปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด ไม่อนุมัติให้นางสาวสมลักษณ์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาท เนื่องจากเอกสารของนางสาวสมลักษณ์เป็นเอกสารปลอมและนางสางสมลักษณ์ได้นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป โจทก์ได้ส่งพนักงานมาสอบสวนข้อเท็จจริง ในที่สุดให้จำเลยที่ 1 และนางสาวกัลยาร่วมกันรับผิดในความเสียหายของรถยนต์พิพาทโดยให้นางสาวกัลยารับผิดเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งหมดโดยให้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และผ่อนชำระโดยหักเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ทุกเดือน เดือนละ 4,800 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 หลังจากโจทก์หักเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ได้ 13 เดือนแล้ว โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์เปลี่ยนระบบการขายใหม่ จำเลยที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 14 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า การทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นการประกันการทำงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 แสดงให้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากการมอบรถยนต์พิพาทให้นางสาวสมลักษณ์ไป แล้วนางสาวสมลักษณ์นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป เป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ดังนั้น หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share