คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีความผิดอันยอมความได้ ถ้าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว หากจำเลยมิได้ยกข้อตอ่สู้ให้เป็นประเด็นขึ้นมาว่าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ โจทก์ก็ไม่มีข้อที่จะต้องนำสืบว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ระเบียบแล้ว แต่ถ้าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว ก็ไม่ทำให้ฟ้องนั้นไม่เป็นฟ้อง เพราะความข้อนี้มิใช่เป็นข้อความซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติให้โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบว่าคดีได้มีการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลก็พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยได้
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายข้อหา เป็นความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่คำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวว่าข้อหาความผิดอันยอมความได้นี้ได้มีการร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว และตามคำเบิกความของผู้เสียหาย ตำรวจผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการร้องทุกข์ของผู้เสียหายแต่ประการใด เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจทำการสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายบทหลายกระทง กล่าวคือจำเลยที่ ๑ ได้บังอาจมีอาวุธปืน ฯลฯ ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ได้บังอาจร่วมกันใช้กำลังกายและไม้ถือเป็นอาวุธตบหน้ากระทืบและตีคุณหญิงระวิผู้เสียหายหลายแห่ง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขึ้นไปบนบ้านผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาต แล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ บังอาจลักทรัพย์มีปืนสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .๓๘ หนึ่งกระบอก กระสุนขนาด .๓๘ ห้านัด กล้องถ่ายรูป ๑ กล้อง ธนบัตร ๕,๐๐๐ บาท ภาพถ่ายราคา ๑,๕๐๐ บาทไป ต่อจากนั้นจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันใช้ปืนจี้และผลักผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ยิงปืนขู่ พาตัวผู้เสียหายไปจากบ้านมุ่งหน้าไปยังจังหวัดลำปาง จำเลยที่ ๔ บังอาจแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารบก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ ฯลฯ ประมลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๗, ๓๓๕ (๘), ๓๑๐, ๑๔๖ พระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พ.ศ. ๒๔๗๗ ฯลฯ กับขอให้ริบของกลางและคืนของกลางบางอย่างแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก ลงโทษจำคุก ๖ เดือน ผิดตามมาตรา ๒๙๕ ลงโทษจำคุก ๖ เดือน และผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคแรก จำคุก ๖ เดือน รวมเป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก ลงโทษจำคุกคนละ ๖ เดือน และตามมาตรา ๒๙๖ ลงโทษจำคุกคนละ ๓ เดือน รวมเป็นจำคุกคนละ ๙ เดือน จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๐ วรรคแรก จำคุก ๖ เดือน ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๖ แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหารอันเป็นบทหนักจำคุก ๓ เดือน รวมเป็นจำคุก ๙ เดือน ริบไม้ถือหัวโลหะ ปลอกกระสุนปืนเอ็ม ๑๖ สิบสองปลอก ลูกระเบิดมือ ๑ ลูก เครื่องแบบ ๑ ชุด ของกลางนอกนี้ให้คืนเจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑, ๘๓ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ในข้อหาความผิดฐานนี้คนละ ๑ เดือน กับให้ยกฟ้องข้อหาความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีความผิดอันยอมความได้ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรียกว่า คดีความผิดต่อส่วนตัวนี้ถ้าโจทก์ได้บรรยายไว้ด้วยว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว แต่จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ให้เป็นประเด็นขึ้นมาว่าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ โจทก์ก็ย่อมไม่มีข้อที่จะต้องนำสืบว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว แต่ถ้าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว ก็ไม่ทำให้ฟ้องนั้นไม่เป็นฟ้อง เพราะความข้อนี้มิใช่เป็นข้อความซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ บัญญัติให้โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบว่าคดีได้มีการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลก็พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยได้ สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายข้อหา เป็นความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่คำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวว่าข้อหาความผิดอันยอมความได้นี้ได้มีการร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว และตามคำเบิกความของผู้เสียหาย นายตำรวจผู้จับจำเลยและพนักงานสอบสวนก็เป็นความจริงดังที่ศาลอุทธรณ์กล่าวว่าไม่ปรากฏว่าได้มีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายแต่ประการใดเลย เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจทำการสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ฯลฯ
พิพากษายืน

Share