แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.5.1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมของบริษัทผู้รับประกันภัยจำเลยเว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น และข้อ 1.10เงื่อนไขบังคับก่อนระบุว่า บริษัทอาจจะไม่รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นี้ เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประกันภัยและเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่คู่กรณี ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับผิดต่อคู่กรณี การที่พนักงานสอบสวนสั่งปรับโจทก์ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายนั้น เป็นการกระทำของพนักงานสอบสวนเอง หาใช่โจทก์ยอมรับผิดต่อคู่กรณีไม่โจทก์จึงมิได้กระทำผิดเงื่อนไขซึ่งจำเลยจะอ้างเป็นเหตุที่จะไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำเลยค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องก็อยู่ในวงเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-3948 สงขลา ที่ทำสัญญาประกันภัยไว้แก่จำเลย โดยคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ในวงเงิน 400,000 บาท คุ้มครองความเสียหายต่อความบาดเจ็บหรือมรณะและทรัพย์สินในวงเงิน500,000 บาท ต่อ 1 ครั้ง ขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน390,657.34 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 1.5.1 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ยินยอมให้จัดการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาประกันภัยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องรถยนต์ของโจทก์เสียหายไม่เกิน 122,697 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 303,211 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนข-3948 สงขลา ไว้แก่จำเลย โดยจำเลยยอมรับผิดในกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เสียหายในวงเงิน 400,000 บาทและรับผิดในกรณีบุคคลได้รับบาดเจ็บในวงเงิน 500,000 บาทต่อ 1 คน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 โจทก์ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกหกล้อ รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยตกลงให้โจทก์นำรถยนต์ที่เสียหายไปซ่อมที่อู่ติ่งเซอร์วิส อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้โดยจำเลยส่งอะไหล่บางส่วนไปให้ ต่อมาจำเลยสั่งระงับมิให้อู่ติ่งเซอร์วิส ซ่อมรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ โจทก์ได้ให้อู่ติ่งเซอร์วิสซ่อมรถยนต์ต่อไปจนเสร็จและชำระเงินค่าซ่อมให้แก่ผู้รับจ้างซ่อมรถยนต์เรียบร้อยแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์และคู่กรณีได้ไปที่สถานีตำรวจภูธรตำบลทุ่งลุง เพื่อตกลงเจรจาค่าเสียหายกันโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบหรือได้รับความยินยอมจากจำเลยเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2ข้อ 1.5.1 จำเลยจึงมีสิทธิไม่ซ่อมรถยนต์หรือไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1.10 เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3 หัวข้อสัญญาหมวดที่ 1 : เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 1.5 การจัดการเรียกร้อง : 1.5.1ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอม เสนอ หรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น และข้อ 1.10เงื่อนไขบังคับก่อนระบุว่าบริษัทอาจจะไม่รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นี้ เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาประกันภัย และเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมเสนอ หรือให้สัญญาวาจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายแต่อย่างใด กลับปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าไม่มีการตกลงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงแนะนำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไปฟ้องร้องกันในทางแพ่งต่อไปทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับผิดต่อคู่กรณีดังที่จำเลยอ้างในฎีกาการที่พนักงานสอบสวนที่ปรับโจทก์ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายนั้น เป็นการกระทำของพนักงานสอบสวนเอง หาใช่โจทก์ยอมรับผิดต่อคู่กรณีดังจำเลยฎีกาไม่โจทก์จึงมิได้กระทำผิดเงื่อนไข ข้อ 1.5.1 ซึ่งจำเลยจะอ้างเป็นเหตุที่จะไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามข้อ 1.10 เมื่อปรากฏตามคำเบิกความของนายถาวร พูนพนัง พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยเองว่าสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำไว้แก่จำเลยเป็นการประกันภัยชั้นหนึ่งซึ่งจำเลยผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดทั้งจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องก็อยู่ในวงเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน