คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดก็ให้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อนั้นขึ้นมากล่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ชัดแจ้งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายมานั้นไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกควรเป็นอย่างไรพร้อมด้วยเหตุผลที่คัดค้าน กฎหมายบทนี้มิได้มีความมุ่งหมายบังคับให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ต้องบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การเหมือนดังที่บรรยายมาในศาลชั้นต้น เมื่อกฎหมายมิได้มีความมุ่งหมายดังกล่าวการที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ถึงคำฟ้องและคำให้การมาย่อ ๆ พอให้ทราบว่าคดีโจทก์เป็นมาอย่างไรก็ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว และโจทก์ได้บรรยายไว้ในอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ การที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่กล่าวถึงการบังคับคดีส่วนนี้ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยตามสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองได้ เป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งถึงข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใด ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ ซึ่งเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากจำเลยไม่ชำระ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ จึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท
ตามฟ้องโจทก์บรรยายถึงการดำเนินการเป็นขั้น ๆ ไป คือบังคับจำนองนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดก่อน เมื่อได้เงินมาไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย ซึ่งเป็นการบังคับแก่ทรัพย์โดยมีลำดับก่อนหลัง แต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้โดยไม่มีลำดับก่อนหลัง จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและเกินกว่าคำฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนจำนองไม่มีข้อตกลงในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามสัญญาระบุให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี แต่ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพิ่มขึ้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์อีก ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเพิ่มขึ้นจากอัตราในขณะเลิกสัญญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

Share