คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3297/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยถึงแก่กรรมภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แม้ทนายจำเลยจะมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยโดยทนายจำเลยมีอำนาจลงนามเป็นฎีกาแทนจำเลยได้ก็ตาม แต่ความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าจำเลยได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่าจำเลยถึงแก่กรรมแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำ รวม 3 ฉบับ ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 วันที่ 2 ธันวาคม 2541 และวันที่ 2 มกราคม 2542 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 300,000 บาท มีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โจทก์ได้รับเช็คดังกล่าวมาจากการรับชำระหนี้ ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 วันที่ 3 ธันวาคม 2541 และวันที่ 12 มกราคม 2542 ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 950,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 900,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท จำนวน 300,000 บาท และจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 วันที่ 3 ธันวาคม 2541 และวันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 กันยายน 2542) ต้องไม่เกิน 50,178 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยถึงแก่กรรมภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แม้ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะอาจเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย โดยทนายจำเลยมีอำนาจลงนามเป็นผู้ฎีกาแทนจำเลยได้ก็ตาม แต่ความปรากฏต่อศาลฎีกาตามคำร้องของทนายจำเลยฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2546 ว่าจำเลยได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ตามหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจที่แนบมาท้ายคำร้อง ดังนั้น เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ปรากฏต่อศาลว่า จำเลยถึงแก่กรรมแล้วไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงเห็นสมควรให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42”
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share