คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว ปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ กับบวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1345/2544 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้
ระหว่างพิจารณา นายนภดล โรจนวิภาต ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 362 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำคุกทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1345/2544 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษปรับกระทงละ 10,000 บาท รวมปรับ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี กับให้จเลยกระทำกิจการบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ห้ามจำเลยเสพยาเสพติดให้โทษ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารระเหยทุกประเภท ให้ตรวจหาสารเสพติดทุกครั้งที่รายงานตัว หากปรากฏว่าจำเลยมีอาการติดก็ให้รายงานตัวต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งจำเลยไปบำบัดรักษาตามเงื่อนไข สถานที่และระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดและให้ละเว้นการประพฤติอื่นอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองเดียวกันอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30, 30/1 ยกคำขอบวกโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุก 6 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ดังนี้แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ร่วม

Share