แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมิใช่ผู้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตั๋วแลกเงินโดยตรง แต่รับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงซึ่งรับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงคนเดิมที่โจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปแล้วโดยขณะจำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมานั้น จำเลยซึ่งเป็นธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมทราบว่า โจทก์ได้ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นที่เห็นได้โดยสุจริตว่าตั๋วแลกเงินที่จำเลยรับสลักหลังโอนมาในขณะนั้น มีมูลค่าลดน้อยลงไปกว่าราคาที่ผู้ทรงคนเดิมรับสลักหลังโอนมาเป็นจำนวนมาก หรือนัยหนึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวน่าจะไม่มีมูลค่าเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการซื้อขายเพื่อสลักหลังโอนกันตามปกติแล้ว ทั้งกรณีที่ผู้ทรงประสงค์จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ก็ชอบที่จะต้องนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจักได้ชำระบัญชีหรือดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์มาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของโจทก์ ให้ได้รับส่วนแบ่งโดยทัดเทียมกันอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนแห่งหนี้ พฤติการณ์การรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลย มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยจึงไม่อาจนำมูลหนี้ ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ มาหักกลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวรวม 360,462,032.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 192,219,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 192,219,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,071,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 32,400,000 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 143,748,000 บาท นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยของต้นเงินทั้งสามจำนวนเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กันยายน 2544 ) ต้องไม่เกิน 168,243,032.71 บาทตามขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย กำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ เป็นเงินรวม 200,000,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ทรงมาหักกลบลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 192,219,000 บาท ที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวสมควรหยิบยกข้อฎีกาของโจทก์ว่า การขอหักกลบลบหนี้ของจำเลย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อน ได้ความตามนำสืบของโจทก์ว่าขณะที่ตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ ถึงกำหนดชำระบริษัทไดวา สิงค์โปร์ จำกัด เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงิน รวม 2 ฉบับ ส่วนตั๋วแลกเงิน รวม 9 ฉบับบริษัทโซเมอร์ (ยู.เค.) จำกัด เป็นผู้ทรง บริษัทไดวา สิงคโปร์ จำกัดและบริษัทโซเมอร์ (ยู.เค.) จำกัด ต่างได้เรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินที่ตนเป็นผู้ถือทั้งหมดต่อโจทก์ แต่โจทก์ปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการและห้ามชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงิน โดยโจทก์แจ้งให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินของโจทก์ไปขอรับชำระหนี้จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ต่อจากนั้น บริษัทโซเมอร์ (ยู.เค.) จำกัด ได้สลักหลังโอนตั๋วแลกเงิน ทั้ง 9 ฉบับ ให้แก่บริษัทแบร์ สเทริน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่วนตั๋วแลกเงินตามรวม 2 ฉบับ บริษัทไดวา สิงคโปร์ จำกัด ได้สลักหลังโอนให้แก่บริษัทแบร์ สเทริน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เช่นกัน โดยการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ ดังกล่าวมีจำเลยเป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทแบร์ สเทริน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต่อมาบริษัทแบร์ สเทริน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้สลักหลังโอนตั๋วแลกเงินทั้งหมดให้แก่จำเลย ดังนั้น จำเลยมิใช่ผู้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตั๋วแลกเงินโดยตรง แต่รับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงซึ่งรับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงคนเดิมที่โจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปแล้วโดยขณะจำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมานั้น จำเลยซึ่งเป็นธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมทราบว่า โจทก์ได้ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นที่เห็นได้โดยสุจริตว่าตั๋วแลกเงินที่จำเลยรับสลักหลังโอนมาในขณะนั้น มีมูลค่าลดน้อยลงไปกว่าราคาที่ผู้ทรงคนเดิมรับสลักหลังโอนมาเป็นจำนวนมาก หรือนัยหนึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวน่าจะไม่มีมูลค่าเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการซื้อขายเพื่อสลักหลังโอนกันตามปกติแล้ว ทั้งกรณีที่ผู้ทรงประสงค์จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ก็ชอบที่จะต้องนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจักได้ชำระบัญชีหรือดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์มาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของโจทก์ ให้ได้รับส่วนแบ่งโดยทัดเทียมกันอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนแห่งหนี้ พฤติการณ์การรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลย มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 จำเลยจึงไม่อาจนำมูลหนี้ ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ มาหักกลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้ จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์ ตามจำนวนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 200,000 บาท