คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในวันที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ร้อยละ 12.25 สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีร้อยละ 12.75 แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินระบุข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เงินกลับระบุข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนี้ตั้งแต่มีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไปอันเป็นระยะเวลาที่จำเลยยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด ข้อสัญญาในเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้ จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยเช่นนี้จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้โดยมิชอบในสัญญาก็ตามก็หาเป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ไม่ จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนผิดนัด ส่วนอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับว่าเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินไปศาลมีอำนาจลดลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระรวมกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 540,335.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 380,996.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 380,996.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19697 ตำบลพะยอม (คลองหกวาสายบนฝั่งเหนือ) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อสัญญากู้เงินเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.15 โดยตามประกาศดังกล่าวข้อ 3 (1) และ (2) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้ บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในประกาศดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกหนี้ที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และข้อเท็จจริงได้ความตามคำสั่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อของธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.14 ว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ซึ่งจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีร้อยละ 12.25 และ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีร้อยละ 12.75 แต่ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 และ ข้อ 3 ระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดสำหรับเรียกเก็บจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ทั้งที่ตามสัญญาข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยนี้ โดยผ่อนชำระทุกวันสิ้นเดือนนับแต่เดือนมกราคม 2538 ซึ่งเป็นการชำระงวดแรกถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป ข้อสัญญานี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อมีการทำสัญญากู้เงินกันเป็นต้นไป อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองยังไม่ตกเป็นลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด และในกรณีนี้โจทก์ยังไม่มีสิทธิทำสัญญาเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยจะเรียกดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้นจึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.15 ข้อ 3 (4) ดังกล่าวข้างต้น ข้อสัญญาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นนี้ จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 44 ข้อสัญญาในการคิดดอกเบี้ยย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และแม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะผ่อนผันคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้โดยมิชอบตามสัญญานั้นก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ส่วนการคิดดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4 ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ระบุในสัญญาข้อ 2 ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ และในกรณีที่มีการผิดนัดแล้วเช่นนี้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วในอัตราผิดนัดสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ได้โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.15 ข้อ 3 (4) ดังกล่าวแล้วแต่อย่างใด สัญญาข้อ 4 นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตามความตามสัญญาข้อ 4 นี้เป็นการกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงอันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการผิดสัญญาเท่ากับเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายในลักษณะเป็นดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 และเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์เป็นผู้เป็นเจ้าหนี้เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินรายนี้แล้ว เห็นว่า ตามปกติโจทก์อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่โจทก์กลับทำสัญญาโดยหวังจะให้ตนมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นจนเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นเหตุให้ข้อสัญญาข้อ 2 ตกเป็นโมฆะดังได้วินิจฉัยมาแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดได้เลย ดังนี้อัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามที่ระบุในสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่กำหนดไว้เป็นอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก เช่น บางช่วงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และบางช่วงสูงถึงร้อยละ 24 ต่อปี นับว่าเป็นเบี้ยปรับในลักษณะดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วนไปมาก เห็นสมควรลดลงเหลือเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนกรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ชำระ ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นไป ซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนสิงหาคม 2540 ต่อเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนสิงหาคม 2540 ไปแล้ว คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันกู้ยืม (วันที่ 22 ธันวาคม 2537) จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 400,000 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share