คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1408/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยแยกเป็น 3 ข้อ คือ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายข้อหนึ่ง ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายข้อหนึ่ง กับฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายอีกข้อหนึ่ง ซึ่งความผิดทั้งสามฐานเป็นคนละขั้นตอน อีกทั้งจำเลยทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสามแยกออกจากกัน ฉะนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ให้ลงโทษจำคุกระทงละ 3 เดือน รวม 3 กระทง รวมคนละ 9 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน 15 วัน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ให้รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายไว้พิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อที่ว่า จำเลยทั้งสองมิได้ใช้แป๊บเหล็กเป็นอาวุธทำร้ายผู้เสียหายทั้งสามตามที่ระบุในคำฟ้อง แต่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสามเพียงร่วมกันใช้ไม้ไผ่เป็นอาวุธนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสาม ต้องถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัย ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงชอบแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันโดยแยกเป็น 3 ข้อ คือ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายข้อหนึ่ง ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายข้อหนึ่ง กับฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายอีกข้อหนึ่ง ซึ่งความผิดทั้งสามฐานเป็นคนละขั้นตอน อีกทั้งจำเลยทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสามแยกออกจากกัน ฉะนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share