คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักของผู้เสียหายโดยการบุกรุกดังกล่าวจำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายภายหลังจากการกระทำความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างอีกด้วย ฎีกาของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365, 295
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364, 365 (1) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าไปในบริเวณบ้านของผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 สำเร็จแล้ว จึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง จำเลยไม่ต้องรับผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักของผู้เสียหายโดยการบุกรุกดังกล่าวจำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ ดังนั้น จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายภายหลังจากกระทำความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งคัดค้านได้ความว่า มูลกรณีที่เกิดเป็นคดีนี้เป็นเพราะผู้เสียหายได้สร้างห้องน้ำบริเวณรั้วด้านติดกับที่ดินของจำเลยและทำท่อระบายอากาศหันไปทางที่ดินของจำเลยทำให้จำเลยไม่พอใจ เป็นผลให้เกิดการทะเลาะกัน ดังนี้จะว่าผู้เสียหายไม่มีส่วนก่อให้จำเลยทำผิดคดีนี้เสียเลยยังไม่ถนัด ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยทำร้ายเพียงเป็นแผลที่หัวเข่าทั้งสองข้าง เล็บหัวแม่มือข้างซ้ายฉีกและมีรอยฟกช้ำตามลำตัว เป็นบาดแผลที่ไม่รุนแรง พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงมากนัก แม้จำเลยจะเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ด้วยมูลกรณีเดียวกันกับคดีนี้ และปรากฏว่าจำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกเพราะคดีดังกล่าวศาลให้รอการลงโทษไว้ จึงสมควรให้โอกาสจำเลยอีกครั้งเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดี ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับ 6,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share