แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก และน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 83
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ขว้างชามก๋วยเตี๋ยวและจำเลยไม่รู้จักกับคนที่ขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก ส่วนน้ำก๋วยเตี๋ยวถูกบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 1 นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 หรือทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ จำเลยได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในทำนองเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยให้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน และเห็นว่า การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผากและน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้กำลังประทุษร้ายเตะผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้อง ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบนบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกที่หลบหนีรุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง โดยใช้มือรัดคอ และดึงตัวผู้เสียหายที่ 1 กับขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผากและน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้กำลังประทุษร้ายเตะผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง จนผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย พฤติการณ์การกระทำของจำเลยเป็นการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสองได้รับไม่ร้ายแรงมากนักและชั้นฎีกาจำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้ายโดยได้วางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเงิน 6,000 บาท ทั้งปรากฏว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน เป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2