คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทกฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าห้องแถวพิพาทอีกต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยกับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องแถวพิพาท ตอนแรกจำเลยให้การว่าจำเลยซื้อห้องแถวพิพาทจาก ซ.ในราคา 38,000 บาท จำเลยได้รับมอบการครอบครองมาแล้ว แต่ในตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพากจาก ส. มารดาโจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาจึงเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ยืนยันในข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นไปทางหนึ่งทางใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การจำเลยเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าห้องแถวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยและวินิจฉัยตามนั้น จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นขึ้นที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจยกอุทธรณ์ของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 242 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากห้องแถวเลขที่ 273/1 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานครพร้อมส่งมอบห้องแถวดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยกับให้จำเลยใช่ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันห้องไปจนกว่าจะขนย้ายและส่งมอบห้องแถวคืนโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง ขอให้สั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลย หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้โจทก์คืนเงินค่าซื้อบ้านจำนวน 38,000 บาท และค่าซ่อมบ้านจำนวน 50,000 บาท แก่จำเลย ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากห้องแถวพิพาทเลขที่ 273/1 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบห้องแถวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย และชำระค่าเสียหายเดือนละ 700 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบห้องแถวคืนแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าห้องแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยวินิจฉัยว่า คำให้การจำเลยขัดแย้งกันเอง โดยมิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาว่ากล่าวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องถือว่าคำให้การจำเลยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยย่อมมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าห้องแถวพิพาทอีกต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยกับบริวารขนย้ายสินออกจากห้องแถวพิพาทตอนแรกจำเลยให้การว่า จำเลยซื้อห้องแถวพิพาทจากนางเซี้ยม แซ่แต้ ในราคา 38,000 บาท จำเลยได้รับมอบการครอบครองมาแล้ว แต่ในตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่า จำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากนางสมพร เหล่าบริรักษ์สุข มารดาโจทก์ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จึงเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ยืนยันในข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นไปทางหนึ่งทางใด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การจำเลยเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทจากโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าห้องแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยและวินิจฉัยตามนั้น จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจยกอุทธรณ์ของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 242 (1) ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้าย จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าห้องแถวพิพาท เป็นการอำพรางสัญญาเช่าช่วงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมิสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงขัดต่อประมวณกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่าการทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาท เป็นการอำพรางสัญญาเช่าช่วงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมอำพรางอันเป็นเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีมาใช้บังคับและต้องถือตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เช่าช่วง แต่สัญญาเช่าช่วงดังกล่าวมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share