คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสองนั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 50,000 บาท ภายใน 15 วัน เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยโต้แย้งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,835,755.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปในราคา 1,170,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 1,170,000 บาท ทั้งนี้เจ้าพนักงานได้ประเมินราคาทรัพย์จำนองไว้เป็นเงิน 1,672,000 บาท จำเลยได้คัดค้านการขายแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับฟังคำคัดค้านอันมีลักษณะเป็นการสมยอมกับโจทก์ที่จะได้ซื้อทรัพย์สินของจำเลยในราคาที่ต่ำ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำค้านว่า การขายชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้องของจำเลย และโจทก์ได้ยื่นคำร้องโดยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินหรือหาประกันต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินประกันจำนวน 50,000 บาท ภายใน 15 วัน ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 19 เมษายน 2547 จำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวตามคำแถลงลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547
วันนัดไต่สวน ทนายจำเลยแถลงว่าจำเลยไม่มีเงินประกันมาวางตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินหรือหาประกันในชั้นยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด มิใช่เป็นคำสั่งที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ ซึ่งมีบทบัญญัติเฉพาะ มิใช่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำบังคับหรือคำสั่งศาลที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ตามกฎหมาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องยังไม่ถึงที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าราคาที่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสองนั้น ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้นำวรรคห้าของมาตรา 296 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 296 วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวน และภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยวางเงินจำนวน 50,000 บาท ภายใน 15 วัน เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยโต้แย้งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นแล้ว คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่จำเลย

Share