คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การในขณะถูกจับกุมว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 โดยในขณะที่จำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ยึดได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจคนใดเห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แม้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 แต่ก็เป็นคำซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกันซึ่งมีน้ำหนักน้อย และจากการสืบสวนปรากฏว่า จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่เจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ดำเนินการตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 เพื่อค้นหาสิ่งของผิดกฎหมายกลับปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไป คงทำแต่เพียงรายงานการสืบสวนให้ผู้บังคับบัญชาทราบเท่านั้น หลังจากจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมและให้การซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 แล้ว พนักงานสอบสวนได้เชิญจำเลยที่ 2 มาที่สถานีตำรวจ จำเลยที่ 2 ก็มาพบโดยดี โดยไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่ประการใด อันเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 2 แม้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าได้แจ้งว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าและยังมีข้อต่อสู้จึงไม่อาจนำมาเพื่อรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ จากการนำสืบของโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 คงมีแต่คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 และคำรับของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวน เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุก 9 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายดาบตำรวจถนอม สุนิลหงส์ และสิบตำรวจตรีองอาจ ขาวะนา เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 1 ว่าหลังจากพยานติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 300 เม็ด จากจำเลยที่ 1 แล้ว จึงได้นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนที่ป่าละเมาะที่ทางเข้าสวนสุพจน์ หมู่ที่ 11 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ต่อมาเวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์มาพบสิบตำรวจตรีองอาจและนำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้สิบตำรวจตรีองอาจตรวจสอบเมทแอมเฟตามีนแล้วได้ให้สัญญาณเพื่อให้นายดาบตำรวจถนอมเข้าจับกุมนายดาบตำรวจถนอมกับพวกจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 304 เม็ด ที่ตัวจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 2 เห็นว่า นายดาบตำรวจถนอมและสิบตำรวจตรีองอาจเบิกความว่า จับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 304 เม็ด ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การในขณะถูกจับกุมว่าซื้อมาจากจำเลยที่ 2 โดยในขณะที่จำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ยึดได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจคนใดเห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แม้ในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 จะให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 แต่ก็เป็นคำซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกันซึ่งมีน้ำหนักน้อย ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกถาวร นันติแสน ซึ่งเคยสืบสวนพฤติการณ์เกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษของจำเลยที่ 2 ว่าได้ทำการสืบสวนพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2540 เป็นต้นมาจนถึงเดือนธันวาคม 2540 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ร้อยตำรวจเอกถาวรก็มิได้ดำเนินการตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 เพื่อค้นหาสิ่งของผิดกฎหมายกลับปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไป ร้อยตำรวจเอกถาวรคงทำแต่เพียงรายงานการสืบสวนให้ผู้บังคับบัญชาทราบเท่านั้น หลังจากจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมและให้การซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 แล้ว พันตำรวจโทชัชวาล สุธาวา พนักงานสอบสวนได้เชิญจำเลยที่ 2 มาที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโฮ่ง ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ก็มาพบพันตำรวจโทชัชวาลแต่โดยดีโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 หลีกเลี่ยงไม่มาพบพันตำรวจโทชัชวาล หรือมีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่ประการใด อันเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 2 ต่อมาพันตำรวจโทชัชวาลได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งพันตำรวจโทชัชวาลเบิกความว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.11 แต่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้แจ้งว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นพยานบอกเล่าและยังมีข้อต่อสู้จึงไม่อาจนำมาเพื่อรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ จากการนำสืบของโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ของจำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์คงมีแต่คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 และคำรับของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวน เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share