แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ และร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้เห็นว่า ฎีกาของโจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลสูงเพราะเป็นปัญหาสำคัญในภาวะปัจจุบัน จึงอนุญาตให้ฎีกาได้ ดังนี้เป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเพื่อศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจว่าควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการฎีกาและอนุญาตให้ฎีกาเพื่อศาลฎีกาและได้วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกานั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งประกอบกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในการพาณิชย์กิจใดๆ เพื่อเอาเปรียในทางการค้า บังอาจมีเครื่องชั่งพิกัดกำลัง ๓๕ กิโลกรัมใช้ในกิจการชั่งน้ำหนักขายข้าวสารและสินค้าอื่นๆ ให้แก่ผู้มาติดต่อซื้อ โดยเครื่องชั่งดังกล่าวตุ้มน้ำหนักที่ใช้น้ำหนักขาดไปจากน้ำหนักมาตรฐาน ทำให้จำเลยได้เปรียบลูกค้าขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๘ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ พระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๘ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก ๓ เดือน ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ และร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้เห็นว่า ฎีกาของโจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลสูง เพราะเป็นปัญหาสำคัญในภาวะปัจจุบัน จึงอนุญาตให้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๑
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ๓ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด ๒ ปี ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษเป็นการฎีกาคัดค้านดุลพินิจของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๖ เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย จึงให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๑ และข้อความที่ว่า “ข้อควาที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด” นั้น หมายถึง ข้อความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด แต่คดีนี้โจทก์ฎีกาเพียงขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาโดยเห็นว่าฎีกาของโจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลสูงเพราะเป็นปัญหาสำคัญในภาวะปัจจุบัน เป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเพื่อศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจว่าควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการฎีกาและอนุญาตให้ฎีกาเพื่อศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกานั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์