แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ทนายจำเลยที่ 2 จำเวลานัดสืบพยานคลาดเคลื่อน มิได้มีเจตนาประวิงคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งให้สืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป หากเป็นจริงดังอ้างจำเลยที่ 2 ก็มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา กรณีจึงต้องไต่สวนคำร้องเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) และ (4) ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยไม่ทำการไต่สวน เป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 เสียก่อนแล้วมีคำสั่ง ไม่สมควรก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยวินิจฉัยตามคำร้องและอุทธรณ์คำสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 เลยไปว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประวิงคดี ฟังยังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดใจสืบพยาน และสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ กรณีไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบด้วย มาตรา 247 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินโฉนดเลขที่ 31323, 31334, 31335, 31336 ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากน้ำโพ) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 17056 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ไม่ติดใจสืบพยาน
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งและให้สืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินโฉนดเลขที่ 31323, 31334, 31335, 31336 ตำบลนครสวรรค์ตก (ปากน้ำโพ) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 17056 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2540 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 2 ไม่ติดใจสืบพยาน และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้จำเลยที่ 2 สืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 นัดแรก ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 เวลา 9 นาฬิกา ศาลออกนั่งพิจารณาเวลา 11.45 นาฬิกา แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ติดใจสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องเมื่อเวลา 13.35 นาฬิกา มีใจความสรุปว่า ทนายจำเลยที่ 2 ลงเวลานัดในสมุดนัดเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา จึงไม่ได้มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องในเวลาเช้า โดยได้เดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงศาลในเวลาบ่ายเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณา จึงทราบว่าศาลมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 และนัดฟังคำพิพากษาไปแล้ว ทนายจำเลยที่ 2 จำเวลานัดคลาดเคลื่อนมิได้มีเจตนาที่จะละทิ้งคดีหรือประวิงคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งให้สืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง เห็นว่า ทนายจำเลยที่ 2 อ้างว่ามาศาลตามกำหนดวันนัดแล้ว เหตุที่ไม่ได้อยู่ในขณะที่ศาลพิจารณาคดีก็เพราะทนายจำเลยที่ 2 ลงเวลานัดในสมุดนัดเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา ประกอบทั้งในวันนัดดังกล่าวทนายจำเลยที่ 2 ก็ได้มาศาลในเวลา 13.30 นาฬิกา จริง ฉะนั้นหากเป็นจริงดังที่ทนายจำเลยที่ 2 อ้าง จำเลยที่ 2 ก็มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาจึงควรไต่สวนให้ได้ความเสียก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ทนายจำเลยที่ 2 กล้าวอ้างหรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 โดยไม่ทำการไต่สวนนั้นเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ประวิงคดี ฟังยังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ติดใจสืบพยาน ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 2 ไม่ติดใจสืบพยานและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้จำเลยที่ 2 สืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ก็ไม่ชอบเช่นกัน เพราะตามคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) และ (4) บัญญัติว่า ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติว่า คำขออันใดจะทำได้แต่ฝ่ายเดียว ห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ มีโอกาสคัดค้านก่อน… และถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้เสนอต่อศาลนั้น โดยไม่ต้องทำการไต่สวนแล้ว ก็ให้ศาลมีอำนาจทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรก่อนมีคำสั่งตามคำขอนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 เสียก่อนแล้วมีคำสั่ง ไม่สมควรก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยวินิจฉัยตามคำร้อง และอุทธรณ์คำสั่งคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 เลยไปว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประวิงคดี ฟังยังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดใจสืบพยาน และสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ กรณีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป
พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2545 ของทนายจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.