แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ฉบับแรกว่าโจทก์ไม่นำพยานมาไต่สวน และให้ยกคำร้องขออนาถาของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของโจทก์แล้วว่า โจทก์ไม่ใช่คนอนาถาจะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่นั้นย่อมถือเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ซึ่งโจทก์จะต้องขออนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่า โจทก์เป็นคนยากจน แต่คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ของโจทก์ หาได้กล่าวอ้างว่าโจทก์ขอนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมโดยระบุถึงเหตุที่มิได้ระบุหรืออ้างไว้ในการไต่สวนครั้งแรกไว้ไม่ เมื่อประกอบกับคดีนี้ไม่มีการไต่สวนสืบพยานโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานและไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนครั้งแรก กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ของโจทก์ไว้ไต่สวนจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ 12 ไร่ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถาน จำเลยทั้งสองแถลงสละข้อต่อสู้ในประเด็นว่าฟ้องของโจทก์เป็นคดีอุทลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามแผนที่พิพาทเอกสารหมายเลข จ.ล.1 จากด้านทิศเหนือตลอดแนวลงมาทางด้านทิศใต้เนื้อที่จำนวน 3 ไร่ ให้แก่โจทก์ ค่าใช้จ่ายออกฝ่ายละครึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ยื่นฎีกาวันที่ 12 เมษายน 2544 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอ 2 ครั้ง ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ครั้นถึงวันครบกำหนดโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 แต่ไม่มีคู่ความมาศาลในวันนัดโดยที่โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่นำพยานมาไต่สวน ให้ยกคำร้องขออนาถาของโจทก์ ให้โจทก์นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระภายใน 7 วัน ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 โจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นฎีกาอย่างคนอนาถาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องโจทก์แล้วมีคำสั่งในวันที่ 1 มีนาคม 2545 อนุญาตให้โจทก์ฎีกาอย่างคนอนาถา และมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ฉบับแรกว่า โจทก์ไม่นำพยานมาไต่สวน และให้ยกคำร้องขออนาถาของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของโจทก์แล้วว่า โจทก์ไม่ใช่คนอนาถาจะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่นั้น ย่อมถือเป็นการใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ ซึ่งโจทก์จะต้องขออนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าโจทก์เป็นคนยากจน แต่คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 นั้น หาได้กล่าวอ้างว่าโจทก์ขอนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมโดยระบุถึงเหตุที่มิได้ระบุหรืออ้างไว้ในการไต่สวนครั้งแรกไว้ไม่ เมื่อประกอบกับคดีนี้ไม่มีการไต่สวนสืบพยานโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน และไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนครั้งแรก กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ของโจทก์ไว้ไต่สวนจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 1 มีนาคม 2545 ที่อนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247”
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 1 มีนาคม 2545 ที่อนุญาตให้โจทก์ฎีกาอย่างคนอนาถาและคำสั่งรับฎีกาโจทก์เสีย หากโจทก์ประสงค์จะฎีกาต่อไปก็ให้เสียค่าธรรมเนียมและนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 มาวางศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ