คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6549/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค 5 เป็นการฟ้องเนื่องจากจำเลยกับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยกับพวกจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ “ยอมความกัน” สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 271,565 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไดสตาร์เชน จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 271,565 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูกโจทก์ร่วม)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงิน 271,565 บาท แก่โจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน และให้จำเลยคืนเงิน 271,565 บาท แก่โจทก์ร่วม ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค 5 เนื่องจากจำเลยกับพวกได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างทุนทรัพย์ 713,174 บาท โจทก์ร่วมและจำเลยกับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยกับพวกยอมชำระเงินแก่โจทก์ร่วม 600,000 บาท ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์ร่วมบังคับคดีได้ทันที และต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันในคดีดังกล่าวอีก ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมแถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 2 สิงหาคม 2549 ว่ามูลหนี้ที่โจทก์ร่วมมาร้องทุกข์ดำเนินคดีนี้เป็นมูลหนี้เดียวกันกับที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค 5 และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค 5 เป็นการฟ้องเนื่องจากจำเลยกับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้าง อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่ง ซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ “ยอมความกัน” สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share