แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถ้อยคำปราศรัยของ ด. เป็นที่เข้าใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นการกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า ด. หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มิได้เป็นการกล่าวขยายความให้มีความหมายนอกเหนือไปจากคำปราศรัยของ ด. การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้องนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่ ด. อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1241/2550 และต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5068/2550 อ.3356/2552 อ.2765/2553 และ อ.524/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1241/2550 และต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5068/2550 อ.3356/2552 อ.2765/2553 และ อ.524/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 นางสาวดารณี ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชนที่ท้องสนามหลวง ต่อมาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยได้กล่าวปราศรัยบนเวทีในที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีเนื้อหาใจความตามฟ้องสรุปได้ว่า นางสาวดารณีได้กล่าวหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ท้องสนามหลวงว่า การปกครองทุกวันนี้ที่วุ่นวายเพราะในหลวง และกล่าวหาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ว่าเกี่ยวข้องกับเพชรสีน้ำเงิน ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นเพชรที่ถูกลักมาจากประเทศซาอุดิอาระเบียโดยจำเลยได้เรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีแก่นางสาวดารณี วันรุ่งขึ้นกองทัพบกมีคำสั่งให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นางสาวดารณีในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำคำปราศรัยของนางสาวดารณีอันเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาพูดในที่เกิดเหตุ ย่อมมีผลเท่ากับจำเลยกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา” สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท และมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ดังนั้น จำเลยจะต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาความผิดตามฟ้องก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นการกล่าวอ้างถึงคำปราศรัยของนางสาวดารณีที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี และเป็นการสรุปเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญจากถ้อยคำปราศรัยของนางสาวดารณีที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี โดยมิได้กล่าวข้อความอื่นใดที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี แต่จำเลยยังเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่นางสาวดารณี เนื่องจากจำเลยเชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินคดีแก่นางสาวดารณี เพราะเหตุที่นางสาวดารณีอยู่ในกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น ในข้อนี้ดาบตำรวจลัทธิชัย พยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า นางสาวดารณีปราศรัย 2 วัน มีถ้อยคำโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องกัน แต่ไม่มีผู้ใดไปห้ามปราม และปรากฏข้อเท็จจริงว่าวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้อง กองทัพบกได้มีคำสั่งให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นางสาวดารณีทันที และแม้ว่านางสาวดารณีจะมิได้ระบุถึงในหลวงและพระราชินีในคำปราศรัยโดยตรงก็ตาม แต่ได้ความตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจตรีพนม และนายธนชาติ ตอบคำถามค้านทนายจำเลยเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า ถ้อยคำปราศรัยของนางสาวดารณี เป็นที่เข้าใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นการกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ดังนั้น การที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่านางสาวดารณีหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จึงมิได้เป็นการกล่าวขยายความให้มีความหมายนอกเหนือไปจากคำปราศรัยของนางสาวดารณีแต่ประการใด จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้องนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่นางสาวดารณี อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การกระทำของจำเลยย่อมขาดองค์ประกอบของความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง