คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8251/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค้างจ่ายค่าจ้างจึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งได้มีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม แต่การที่จำเลยฟ้องแย้งกล่าวอ้างว่าโจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นการฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมิได้สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่ของโจทก์ และมีประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 8 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ และคงเรียกจำเลยทั้งสามทั้งเจ็ดสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการไม้แปรรูปเพื่อจำหน่าย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 จำเลยทั้งสามไม่มีงานให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ทำทุกวันโดยอ้างว่าไม่มีวัตถุดิบและไม่จ่ายค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน และเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 จำเลยทั้งสามได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมามีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 8/2547 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างในช่วงที่ไม่มีงานให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ทำและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งเจ็ด แต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามจำนวนที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งสามทั้งเจ็ดสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตมีน้อยจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงให้พนักงานตกลงกันว่าใครจะลาออกก็จะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่พนักงานรวมทั้งโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ตกลงกันว่าจะเข้ามาทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 วันใดก็ได้แต่ขอให้มีคนมาทำงานและสามารถไปทำงานที่อื่นได้ โดยไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงานหรือตามผลงาน โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากตกลงกันดังกล่าวแล้วโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ก็ขาดงานเป็นประจำเมื่อมาทำงานก็ไม่ทำงานให้ดีทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียหาย วันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเรียกประชุมพนักงานเพื่อให้พนักงานทุกคนเขียนใบสมัครงานใหม่และจะนับเวลาการทำงานเดิมให้ ส่วนโจทก์ที่ 2 แจ้งขอลาออกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยตกลงจะสะสางงานให้เสร็จก่อนและจะออกจากงานวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 แต่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 จำเลยที่ 1 ขอให้พนักงานอื่นหยุดงานเป็นเวลา 1 เดือน โจทก์ที่ 2 จึงถือโอกาสไม่มาทำงานละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกัน สำหรับโจทก์ที่ 6 ออกจากงานไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 แล้ว แต่เมื่อพนักงานบางส่วนไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ที่ 6 ถือโอกาสแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าทำงานกับจำเลยทั้งสามถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ทั้งเจ็ดแจ้งความเท็จต่อพนักงานตรวจแรงงาน และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ลักไม้ยางพาราแปรรูปของจำเลยที่และที่ 2 ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งเจ็ดร้องต่อพนักงานตราจแรงงานจึงทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียชื่อเสียงว่าเป็นผู้กระทำผิดต่อกฎหมาย ละเมิดไม่ทำตามกฎหมายแรงงาน โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด การพิจารณาวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงานไม่สุจริตปราศจากความยุติธรรม และจำเลยทั้งสามไม่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงไม่เป็นที่สุด ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ทั้งเจ็ดชำระค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 เป็นเงินคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งเจ็ดขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานภาค 8 อนุญาต
ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค้างจ่ายค่าจ้างจึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยแล้วจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องแย้งกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งเจ็ดร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียชื่อเสียงว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและขอให้บังคับโจทก์ทั้งเจ็ดชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมิได้สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่อย่างใด และมีประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งเจ็ด ที่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share