คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 1 ปี แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืนคู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำร้ายเท่านั้น มิได้มีเจตนาฆ่า และขอให้รอการลงโทษมานั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 297, 365, 371 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 365, 371, 80, 83 ขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสามอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่ากับฐานบุกรุกเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับคนละ 50 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และมีการชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้อีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี และปรับคนละ 25 บาท เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพความผิด ประกอบกับรายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติ น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสามยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสามไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดคนละ 1 ปี นับแต่วันพิพากษา กับให้จำเลยทั้งสามฝึกวิชาชีพคนละ 2 วิชา ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาอนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 1 ปี แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืนคู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มีเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น มิได้มีเจตนาฆ่า การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 80 มิใช่มาตรา 288, 80 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และขอให้รอการลงโทษมานั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share