แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ข้อ 1 กล่าวถึงทรัพย์หายและสถานที่ที่ทรัพย์หายฟ้องข้อ 2 หาว่าจำเลยรับของโจร อ้างวันเวลาเกิดเหตุในข้อ 1 แต่มิได้อ้างสถานที่เกิดเหตุด้วยดังนี้จะฟังว่าโจทก์ได้อ้างรวมถึงสถานที่เกิดเหตุด้วยนั้นไม่ได้ ถือว่าฟ้องไม่ระบุที่เกิดเหตุ ต้องยกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ข้อ 1 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2488 เวลากลางวัน ได้มีคนร้ายลักทรัพย์สิ่งของ ๆ นางหยิ้น จองสกุลเหตุเกิดที่ตำบลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ข้อ 2 ตามวันเวลาที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 ตลอดมาถึงวันที่ 31 มกราคม 2488 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยได้สมคบกันรับทรัพย์รายนี้ไว้จากคนร้ายโดยรู้ว่าเป็นของร้ายได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย ฯลฯ ขอให้ลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่า การกระทำผิดเกิดขึ้นที่ใด ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาอ้างว่า ฟ้องของโจทก์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เพราะฟ้องในข้อ 2 ของโจทก์ได้กล่าวท้าวถึงฟ้องข้อ 1 อ้างถึงสถานที่เกิดเหตุรับของโจรไว้ชัดเจนแล้ว
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ในข้อ 2 อ้างถึงแต่เพียงวันเวลาที่กล่าวแล้วในข้อ 1 ไม่มีข้อความอันใดที่จะอนุมาณได้ว่าการรับของโจรได้เกิดขึ้นในสถานที่เดียวกันกับที่เกิดเหตุการลักทรัพย์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน