คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุลาออกจากงาน 2 ประเภท ประเภทที่หนึ่งเป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างที่นายจ้างโจทก์จ่ายให้โจทก์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ประเภทที่สองเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้โจทก์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ผู้จ่ายเงินจำนวนนี้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ น. ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย ดังนี้เงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่ง ป.รัษฎากรฯ ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2 (ข) ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2542 ซึ่งเป็นคนละปีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ น. จำนวน 1,527,855 บาท ที่ได้รับในปี 2542 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่ง ป.รัษฎากรฯ ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นพนักงานของบริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2541 บริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างจากบริษัทนายจ้างทันทีจำนวน 1,022,825 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 40,191 บาท ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีส ซึ่งจดทะเบียนแล้วจำนวน 1,527,855 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 85,885.60 บาท วันที่ 26 มกราคม 2542 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยโจทก์นำเงินชดเชยจากการเลิกจ้างมาคิดคำนวณหักค่าใช้จ่ายแบบบำเหน็จบำนาญ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินภาษีคืน 15,000 บาท วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินได้จากดอกเบี้ย โดยโจทก์นำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคิดคำนวณหักค่าใช้จ่ายแบบบำเหน็จบำนาญอีกครั้ง ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจ้งว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิคำนวณภาษีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษี โดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ๆ ในปีภาษี 2541 แล้ว จึงไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ในปีภาษี 2542 ให้โจทก์ชำระภาษี 205,098.69 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ วันที่ 18 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานในส่วนของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกต้องแล้ว คงเหลือภาษีที่เรียกเก็บพร้อมเงินเพิ่ม 176,479.26 บาท โจทก์เห็นว่าโจทก์ได้รับเงินทั้งสองประเภทเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน แม้โจทก์จะได้รับคนละปีภาษีก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธินำมารวมกันแล้วคำนวณหักค่าใช้จ่ายแบบบำเหน็จตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีทั้งสิ้น 205,098 บาท และให้ยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกให้ออกจากงานได้รับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างและเงินจากทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเงินทั้งสองประเภทเป็นเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุที่โจทก์ถูกให้ออกจากงานแต่ได้รับเงินคนละปีภาษี โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินได้แต่ละประเภทมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายแบบบำเหน็จบำนาญตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) เพราะตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ข้อ 2 (ข) กำหนดให้ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินซึ่งเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้งไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเสียภาษีในเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสจำนวน 1,527,855 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2542 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) ได้หรือไม่ เห็นว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ มาตรา 48 (5) บัญญัติว่า ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานและได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด… ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ดังนี้
… ข้อ 1. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้
ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (ก)
ข้อ 2. เงินได้พึงประเมินตามข้อ 1. ที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
ก) เป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี
ข) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ 1. จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้งไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภทผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น…
ค) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในกรณีนี้ได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน… ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ประเภทที่หนึ่งเป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างจำนวน 1,022,825 บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ถือว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 1. (ค) โดยนายจ้างจ่ายให้โจทก์ในวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ประเภทที่สองเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,527,855 บาท โดยจ่ายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 1. (ข) ผู้ที่จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย ดังนี้ จะเห็นได้ชัดว่าเงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ข้อ 2. (ข) ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2542 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีสจำนวน 1,527,855 บาท ที่ได้รับในปีภาษี 2542 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนพนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษี 205,098 บาท และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย

Share