คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การคำนวณว่านายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้ลูกจ้างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ต้องรู้อัตราค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติเสียก่อนยิ่งไปกว่านั้นหากนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ยินยอมทำงานล่วงเวลาคราวใด นายจ้างอาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เฉพาะในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นกรณีฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 และมาตรา 61 ข้อตกลงรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติโดยไม่มีการคิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง จึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างทั้งมีลักษณะเป็นการผูกพันให้ลูกจ้างต้องยอมทำงานล่วงเวลาตลอดไปโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆ ไป และโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาอีกด้วย จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ช่างปรับฉีดพลาสติกได้รับค่าจ้างรายเดือน เดือนละ 22,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างวันที่ 5 ของทุกเดือน ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2547 จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา 465 ชั่วโมง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานเป็นเงิน 63,936.90 บาท จำเลยให้โจทก์ทำงานโดยไม่มีวันหยุดตามประเพณี ซึ่งจำเลยจะต้องจัดให้มีวันหยุดตามประเพณีปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างปกติรายวัน แต่จำเลยจ่ายเพียงหนึ่งเท่า โจทก์จึงขอเรียกค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีอีกหนึ่งเท่าเป็นเงิน 3,666.65 บาท จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณี 15 ชั่วโมง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าสามเท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานเป็นเงิน 4,124.50 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 22,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31 วัน เป็นเงิน 22,733 บาท การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกค่าเสียหาย 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 22,733 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าล่วงเวลา 63,936.90 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี 3,666.65 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณี 4,124.50 บาท ค่าชดเชย 22,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงกับโจทก์ทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เริ่มทำงานเวลา 12 นาฬิกา ถึง 23 นาฬิกา เป็นเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เวลาพัก 1 ชั่วโมง และล่วงเวลา 2 ชั่วโมง ตกลงกำหนดค่าจ้างต่อเดือนให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายเหมาคือค่าจ้างในเวลาทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเงิน 500 บาทต่อวัน คิดเป็นค่าจ้าง 62.50 บาท ต่อชั่วโมง รวมเป็นค่าจ้าง 15,000 บาท ต่อเดือน ค่าล่วงเวลา 2 ชั่วโมงต่อวัน จำนวน 233.33 บาท คิดเป็นค่าล่วงเวลา 166.67 บาทต่อชั่วโมง รวมเป็นค่าล่วงเวลา 7,000 บาทต่อเดือน โจทก์กับจำเลยตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างทั้งในเวลางานปกติและค่าล่วงเวลาในอัตรา 22,000 บาทต่อเดือน แม้โจทก์จะขาดงานและไม่ได้ทำงานล่วงเวลา ส่วนวันหยุดตามประเพณีและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีนั้น วันที่โจทก์กล่าวอ้างในเอกสารท้ายคำฟ้องบางวันไม่ใช่วันหยุดตามประเพณี บางวันโจทก์ได้หยุดตามที่จำเลยได้ประกาศไว้ และบางวันจำเลยได้ตกลงให้โจทก์หยุดชดเชยในวันทำงานอื่นแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 4 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 โจทก์ทำงานวันละ 11 ชั่วโมงได้ค่าจ้างรายเดือนอัตราเดือนละ 22,000 บาท อัตราเงินเดือนดังกล่าวเป็นการจ่ายเหมาค่าล่วงเวลารวมไปกับค่าจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานตามปกติ โดยไม่มีการคิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลา พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานในวันหยุดตามประเพณีและโจทก์ได้ทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้น โจทก์จึงเรียกค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีตามฟ้องไม่ได้ โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่รับวินิจฉัยให้มีเพียงว่า การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างรายเดือนแก่โจทก์อัตราเดือนละ 22,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเหมาค่าล่วงเวลารวมเข้าไปกับค่าจ้างโดยไม่คิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย” และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” วรรคสองยังบัญญัติต่อไปอีกว่า “ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น” ดังนั้นการจะคำนวณว่านายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้ลูกจ้างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้อัตราค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติเสียก่อน หากสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้กำหนดอัตราค่าจ้างในเวลาทำงานปกติไว้ให้ชัดแจ้งก็ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาที่ถูกต้องได้ซึ่งทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่านายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายบังคับไว้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นหากนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ยินยอมทำงานล่วงเวลาคราวใด นายจ้างอาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เฉพาะในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นกรณีฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ข้อตกลงรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติโดยไม่มีการคิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง จึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างทั้งมีลักษณะเป็นการผูกพันให้ลูกจ้างต้องยอมทำงานล่วงเวลาตลอดไปโดยนายจ้างไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆ ไป และโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นที่นายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาอีกด้วย จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อัตราค่าจ้างรายเดือนเดือนละ 22,000 บาท จึงถือเป็นเพียงอัตราค่าจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติจำนวน 8 ชั่วโมงเท่านั้น และโจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำงานล่วงเวลา 465 ชั่วโมง จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ชัดแจ้งว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่ถูกต้อง คงต่อสู้แต่เพียงว่าจำเลยเหมาจ่ายค่าล่วงเวลารวมไปในอัตราค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท แล้ว จึงต้องฟังว่า โจทก์ทำงานล่วงเวลาทั้งหมด 465 ชั่วโมง ตามที่ฟ้อง เมื่อพิจารณาถึงอัตราค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท โจทก์ทำงานล่วงเวลา 465 ชั่วโมง ค่าล่วงเวลาที่โจทก์ขอมาเป็นเงิน 63,936.90 บาท จึงไม่เกินไปกว่าสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับ จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 63,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงให้ตามที่ขอ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 63,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share