คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5499/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 ทางแก้ของจำเลยที่ 1 คือต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 234 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้องการที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงเป็นการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงให้จำเลยที่ 1 สามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 234 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะได้รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 8,528,711.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 อัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 อัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2542 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2542 อัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 และอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 3,720,445.75 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระให้ยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2594, 2595 และ 2596 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และทรัพย์มรดกของนางธนัชพร ชีวะธรรมานนท์ ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาต พิเคราะห์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 โต้แย้งคัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษา จึงเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลซึ่งต้องทำเป็นอุทธรณ์และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จำเลยที่ 1 ทำเป็นอุทธรณ์คำสั่งจึงไม่รับ ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยที่ 1
วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนอย่างอุทธรณ์คำพิพากษาคดีมีทุนทรัพย์ ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใดๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 ทางแก้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงให้จำเลยที่ 1 สามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 247 และถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้ไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของจำเลยที่ 1 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.

Share