คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4483/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 154 วรรคแรก กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้วางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการบังคับคดีไม่เกินร้อยบาท แต่ในวรรคสองให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งให้วางเงินได้อีกตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งโดยสภาพหรือตามภาวะเศรษฐกิจในขณะยื่นฟ้องหากให้โจทก์วางเงินจำนวน 100 บาท ย่อมเป็นการไม่เพียงพอ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายในชั้นตั้งเรื่องยึดสังหาริมทรัพย์ในอัตรา 1,500 บาท ตามคำสั่งของกรมบังคับคดีถือได้ว่าเป็นการกำหนดจำนวนเงินที่ไม่มากเกินไป เมื่อโจทก์ไม่วางเงินภายในเวลาอันสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะงดปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ไว้จนกว่าโจทก์จะได้ยอมวางเงินเสียก่อนตามมาตรา 154 วรรคสาม กรณีมิใช่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์อันจะต้องยึดภายในเวลาอันควรต้องทำตามมาตรา 283

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 616.44 บาท ตามที่โจทก์ขอ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดการจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน นข 578 อ่างทอง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยได้วางเงินค่าตั้งเรื่องยึดทรัพย์จำนวน 600 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการให้และมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,500 บาท ตามคำสั่งกรมบังคับคดีก่อนจึงจะดำเนินการให้
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกเฉยไม่ยึดทรัพย์อันจะต้องยึดภายในเวลาอันควรต้องทำ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้มีคำสั่งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีตกอยู่ในความรับผิดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีที่จะต้องวางเงินตามระเบียบของกรมบังคับคดี กรณีตามคำสั่งคำร้องมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอยึดทรัพย์ คือรถยนต์หมายเลขทะเบียน นข 578 อ่างทอง ของจำเลยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไปยังนายทะเบียนรถยนต์ขนส่งจังหวัดอ่างทอง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งด้วยวาจาในเบื้องต้นให้โจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,500 บาท ซึ่งเป็นจำนวนค่าใช้จ่ายในการตั้งเรื่องยึดสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไปของเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคตามคำสั่งอธิบดีกรมบังคับคดี แต่โจทก์ไม่ยินยอมวางเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,500 บาท และได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ขอวางเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 600 บาท ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้มีคำสั่งแจ้งโจทก์วางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตั้งเรื่องยึดทรัพย์จำนวน 1,500 บาท ตามคำสั่งกรมบังคับคดีก่อน แล้วจึงจะดำเนินการสั่งในคำขอยึดทรัพย์ต่อไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์ตามคำขอของโจทก์นั้น ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกเฉยไม่ดำเนินการโดยเร็วตามสมควร และต้องตกอยู่ในความรับผิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 154 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อปฏิบัติตามวิธีการเพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีเงินพอที่จะเสียค่าใช้จ่ายนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินไม่เกินร้อยบาทได้โดยพลัน
ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าจำนวนเงินที่วางไว้นั้นจะไม่พอก็ชอบที่จะบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้วางเงินอีกตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเห็นว่าการวางเงินอีกนั้นไม่จำเป็นหรือมากเกินไป ก็อาจยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดสองวันนับตั้งแต่ได้รับบอกกล่าวขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินที่จะวางอีกหรือส่วนของจำนวนเงินซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมเสียแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่วางเงินตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกแห่งมาตรานี้โดยพลัน หรือไม่ยื่นคำขอภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะงดปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวแล้วจนกว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการบังคับคดี แม้ในวรรคแรกของมาตราดังกล่าวจะกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้วางเงินไม่เกินร้อยบาท แต่ในวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับให้วางเงินได้อีกตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งโดยสภาพหรือตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากให้โจทก์วางเงินจำนวน 100 บาท ย่อมเป็นการไม่เพียงพอ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้โจทก์ในคดีนี้วางเงินค่าใช้จ่ายในชั้นตั้งเรื่องยึดสังหาริมทรัพย์ในอัตรา 1,500 บาท ตามคำสั่งของกรมบังคับคดีนั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดจำนวนเงินที่ไม่มากเกินไป ทั้งเงินที่วางดังกล่าวก็เป็นเพียงการทดรองค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีไว้ก่อน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ยึดไว้ได้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่าย โดยคืนเงินทดรองค่าใช้จ่ายให้โจทก์ก่อนหักชำระหนี้อยู่แล้ว โจทก์ย่อมไม่ต้องรับภาระเองอยู่แล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้โจทก์ให้วางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตั้งเรื่องยึดทรัพย์จำนวน 1,500 บาท แล้วจึงจะดำเนินการสั่งในคำขอยึดทรัพย์ต่อไป โจทก์ได้รับแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวมาแล้ว แต่โจทก์ไม่วางเงินภายในเวลาอันควร เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะงดปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ไว้จนกว่าโจทก์จะได้ยอมวางเงินเสียก่อนตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 154 วรรคสาม กรณีจึงมิใช่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์อันจะต้องยึดภายในเวลาอันควรต้องทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 ตามที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์แต่ประการใด และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ตกอยู่ในความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share